xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันผันผวนสงครามราคากดดัน ทองคำอัปไซด์น้อยไม่ควรถือเกิน 10%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชี้ราคาทองคำอัปไซด์น้อย สะท้อนราคารับปัจจัยหนุนจากความเสี่ยงของวิกฤตไวรัสไปแล้ว แนะควรมีแต่ไม่เกิน 10% ของพอร์ต ส่วนน้ำมันผันผวนสูงแม้จบโควิดความต้องการฟื้น แต่เจอแรงกดดันจากสงครามราคาอาจทำตลาดผันผวนต่อเนื่อง คาดราคาดีดกลับ 40 ดอลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลลำบาก

ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยสนับสนุนของราคาทองคำหลักๆ มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งในระยะต่อไปเริ่มเห็นแนวโน้มการแก้ปัญหาและสิ้นสุดการแพร่ระบาด และมีหลายประเทศวางแผนจะเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่เชื่อว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากแล้วทำให้โอกาสในการปรับเพิ่มขึ้นอีกมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม ทองคำเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่บริษัทแนะนำให้นักลงทุนมีไว้ในพอร์ตโดยเหมาะต่อการทยอยสะสมในระยะยาว ซึ่งนักลงทุนควรมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ระหว่าง 5-10% ของพอร์ตการลงทุนรวมทั้งหมด

"ปัญหาโควิดจะเริ่มทยอยคลี่คลายลง แต่ถ้าจะให้แก้ได้เลยคงต้องรอวัคซีน ซึ่งเชื่อว่าอย่างเร็วสุดคงจะต้องรอไปถึงต้นปีหน้า หลังจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยเป็นค่อยไป การเดินทางท่องเที่ยวคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว หลังจากนี้รัฐบาลต่างๆ จะยังคงใช้มาตรการช่วยเหลือและอัดฉีดสภาพคล่องต่อไป ซึ่งหลังจากนี้น่าจะเห็นภาพเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยหนุนราคาทองอยู่ อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างกลับมาปกติ การใช้จ่ายของภาครัฐและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงจะไม่ใช่เรื่องดี ถัดจากนั้นอาจส่งผลกระทบต่อราคาได้" ดร.สมชัยกล่าว

ดร.สมชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของราคาน้ำมันถือว่ามีความผันผวนสูง และได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้ที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การผลิตที่ออกมาเพื่อกดดันคู่แข่งของผู้ค้าน้ำมัน โดยการลดลงของความต้องการคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวกลับมาหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาด แต่ราคาจะยังถูกกดดันจากการแข่งขันของผู้ค้าน้ำมันอยู่ ส่งผลให้ราคาน้ำมันจะยังคงผันผวน

ทั้งนี้ น้ำมันเป็นสินทรัพย์ที่บริษัทไม่แนะนำแก่นักลงทุน แต่บริษัทเชื่อว่าสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่นจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการลงทุนระยะต่อจากนี้

รายงานจาก บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำยังมีต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ความไม่แน่นอนของผลกรทบต่อเศรษฐกิจยังมีอยู่สูง และการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลานานเนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกัน นักลงทุนจึงยังมีความต้องการลงทุนในทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นจากนโยบายการเงินและการคลังที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมหาศาลจากการกลับมาทำ QE อีกครั้งของธนาคารกลางประเทศหลักของโลก โดยเฉพาะเฟดที่ประกาศทำ QE โดยไม่จำกัดวงเงิน ขนาดงบดุลเพิ่มขึ้นสูงสุดเหนือระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลักปรับลดลงต่ำมาก โดยในบางประเทศอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวต่ำกว่าศูนย์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวลดต่ำมาก เพิ่มความต้องการลงทุนในทองคำเพื่อรักษามูลค่าของเงิน

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วมากกว่า 12.8% (ข้อมูลจาก Bisnews ถึงวันที่ 22 เม.ย.) ชี้ให้เห็นว่าราคาทองคำได้สะท้อนปัจจัยบวกมาพอสมควร ซึ่งในระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่แรงซื้อจะไม่สูงเท่าช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากหากหลายประเทศกลับมาอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการ อาจส่งผลให้นักลงทุนลดการลงทุนในทองคำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลของ Covid-19 ยังส่งผลให้ความต้องการซื้อทองคำในบางส่วนลดลงจากการลดลงของรายได้ประชาชน และความต้องการซื้อจากธนาคารกลางก็ปรับลง เช่น ล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศหยุดการซื้อทองคำ เป็นต้น

ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันในระยะสั้น ภายใต้สภาวะผิดปกติที่มีทั้งสงครามราคาพร้อมกับโรคระบาดปิดเมืองทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อย (สงครามราคาน้ำมันล่าสุดคือปลาย 2015 ส่วนโรคระบาดล่าสุดคือ Spanish Flu 1918) น่าจะทำให้ราคาน้ำมันผันผวนหนักไปสักพัก โดยเฉพาะในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ชนิดที่เป็นสัญญาที่บังคับให้ต้องส่งมอบน้ำมันกันจริงๆ (เช่น NYMEX WTI ที่สหรัฐฯ) อาจเห็นความผันผวนหนักเป็นพิเศษ ในสัญญาที่ใกล้วันครบกำหนดซื้อขายวันสุดท้าย (มีสัญญาครบกำหนดทุกเดือน) ทั้งนี้เป็นเพราะไม่มีใครอยากได้เนื้อน้ำมันจริงๆ เพราะหลังจากทำสงครามเร่งการผลิตน้ำมันกันมาราว 2 เดือน ทำให้ถังกักเก็บน้ำมันคงคลังเริ่มเต็ม (เมื่อผลิตมากกว่าใช้ ส่วนเหลือก็ต้องเก็บใส่ถัง) ดังนั้น ไม่ว่าราคาสัญญา Future ดังกล่าวจะร่วงลงไปถูกแค่ไหนก็ไม่มีใครซื้อเพราะไม่มีที่เก็บเนื้อน้ำมันที่จะต้องไปรับมา

ส่วนแนวโน้มระยะกลางถึงยาว สถานการณ์น่าจะเริ่มดีขึ้น แม้อาจไม่ถึงกับดีดกลับไปที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หลายปัจจัยเริ่มผ่อนคลายไปทางดี เพราะหลังจากราคาน้ำมันหลุดไปต่ำกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลก็ทำให้อุปทานการผลิตมีแนวโน้มลดลง ทั้งที่เกิดจากการปิดกิจการ Shale oil ของสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนสูง และการยอมกลับมาเจรจาของ OPEC รัสเซีย และผู้ผลิตอื่นนอก OPEC รวมถึงสหรัฐฯ โดยได้ข้อสรุปแบ่งออกเป็นกลุ่มโอเปกและพันธมิตรนำโดยซาอุฯ และรัสเซียรวมกันลดการผลิต -9.7 MBPD เริ่มเดือนพฤษภาคม และจะลดความเข้มลงเหลือ -8 MBPD ในครึ่งหลังของปี (อิงจากระดับการผลิตช่วงเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่เร่งผลิตเพิ่มขึ้นไปกว่า 2.5 MBPD จากช่วงก่อนสงครามราคา) ทำให้อัตราการลดที่แท้จริง (Effective cut) เหลือเพียง -7.2 MBPD เทียบกับช่วงก่อนสงครามราคา ส่วนผลิตนอก OPEC อีก -3.7 MBPD นำโดยสหรัฐฯ บราซิล และแคนาดา รวมทั้งหมดเป็น -10.9 MBPD ถือเป็นการลดกำลังผลิตที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ หากดูจากการลดการผลิต -10.9MBPD ดังกล่าวแม้จะเทียบไม่ได้กับอุปสงค์ทั่วโลกที่คาดว่าจะลดลงราว -20 MBPD (ในช่วง peak ของ Covid-19) แต่อย่างน้อยก็คาดว่าจะเห็นราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ พ.ค.เมื่อการลดกำลังการผลิตเริ่มต้น โดยอาจกลับไปแถว 30-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ในช่วงปลายปี ทั้งนี้ การคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะกลับไปอยู่ที่ระดับใด เมื่อใด อาจเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ ราคาน้ำมันในอีกหนึ่งปีข้างหน้าไม่น่าจะอยู่แถว 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ราคานี้แทบไม่มีผู้ผลิตรายใดอยู่รอดได้ในระยะยาว) และมีโอกาสกลับไปแถว 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลค่อนข้างมาก ภายใต้ความเชื่อว่าโลกจะรับมือกับ Covid-19 ได้ดีขึ้น และความเสียหายหลังสงครามราคาจะทำให้ผู้ผลิตเต็มใจเจรจากันมากขึ้น เห็นได้จากสหรัฐฯ เข้าร่วมเจรจาอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สำหรับนักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนน้ำมัน คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพบกับความผันผวนตามราคาตลาด โดยเฉพาะความผันผวนระยะสั้นอันเกิดจากปัญหาทั้งปัญหาโครงสร้างอย่างอุปสงค์ อุปทาน และปัจจัยระยะสั้นอย่างการตึงตัวของ facility ในการกักเก็บและความผันผวนในตลาดล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ที่ราคาน้ำมันระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอาจไม่ใช่จังหวะที่ควรลดการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ เพราะในระยะยาวมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่ราคาน้ำมันจะสามารถอยู่ที่ระดับต่ำขนาด 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนี้ได้นาน โดยคาดว่าราคาน่าจะต้องปรับตัวขึ้นตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ หลายท่านที่ตามข่าวความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า NYMEX WTI ในสหรัฐฯ พบว่ากองทุน ETF USO ที่ลงทุนในสัญญาล่วงหน้าตัวใกล้ที่สุด (front month) มีราคาผันผวนรุนแรง นั่นเป็นเพราะกองทุนดังกล่าวมีสัดส่วนการถือครองถึง 25% ของ Outstanding (เป็นผู้เล่นรายยักษ์) และมีกฎการ rollover เมื่อครบกำหนดชัดเจน (เกิดการทำธุรกรรมปริมาณมาก ในเวลาอันสั้น) ส่งผลให้มีผู้เล่นอื่นเข้ามาดักทางและก่อให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาสัญญา Front month ดังนั้นกองทุนรวมฯ น้ำมันไหนที่ไปผูกกับ ETF USO ดังกล่าวก็อาจได้รับความผันผวนรุนแรงด้วย (จับตา 5-8 พ.ค. คาดว่าจะมีการ rollover contract เดือน มิ.ย. ไป ก.ค. อาจมีความผันผวนรุนแรงอีกครั้ง)


กำลังโหลดความคิดเห็น