xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต COVID-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานั้นเราได้เห็นพัฒนาการของผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกพยายามใช้นโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้สร้างผลกระทบมากกว่าที่เคยประเมินกันเอาไว้จากการ Lockdown ธุรกิจและการเดินทางในหลายประเทศทั่วโลกอย่างกะทันหัน ทำให้การหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าช่วงวิกฤต Sub-prime ในช่วงปี 2008-2009 ซึ่งความต่างอย่างเห็นได้ชัดคือวิกฤต Sub-prime ในช่วงปี 2008-2009 นั้นผลกระทบส่วนมากจำกัดอยู่ในสหรัฐฯ มากกว่าที่จะกระจายไปทุกภูมิภาคเหมือนการระบาดของ COVID-19

หลังจากที่การแพร่ระบาดเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางมกราคมเป็นต้นมา ณ วันที่ 14 เมษายนนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึงประมาณ 2 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ประมาณ 74,000 คน การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสส่งผลให้แต่ละประเทศต้องควบคุมการระบาดอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการระงับระบบขนส่งทางอากาศ การพยายามเพิ่มระยะห่างในสังคม (Social Distance) และชักชวนให้พลเมืองอยู่บ้าน การปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ งดกิจกรรมที่จะมีการชุมนุมของคนหมู่มาก ซึ่งการ Lockdown นี้ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและรายได้ที่ลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุด IMF ได้ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยลงประมาณ 3% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.3% แล้วจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2564 ที่ระดับ 5.8% จากมาตรการช่วยเหลือของนโยบายการเงินและการคลัง โดยการคาดการณ์นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจจะสามารถเริ่มกลับมาดำเนินได้อย่างปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต่างงัดเครื่องมือที่มีเพื่อที่จะประคองเศรษฐกิจเอาไว้ เราได้เห็น Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้งลงไปอยู่ที่ระดับ 0% ในเดือนมีนาคม พร้อมทั้งประกาศทำ QE ด้วยวงเงินกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ต่างได้ขานรับเป็นทำนองเดียวกัน ทางฝั่งนโยบายการคลังนั้นเราได้เห็น การทำงบประมาณขาดดุลรวมกว่า 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกลุ่มประเทศ G4 (US, EU, UK, Japan) และจีน หรือคิดเป็นประมาณ 11.9% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าเมื่อช่วงปี 2009

คำถามที่นักลงทุนสนใจคงหนีไม่พ้นว่าการฟื้นตัวหลังจากนี้จะเป็นในลักษณะใดและใช้เวลานานเพียงไร ซึ่งเป็นคำถามที่ยากจะคาดเดา เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ แม้ว่าในระยะหลังมานี้ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่เริ่มเติบโตในระดับที่ช้าลง แต่หากการปิดเมืองมีการยืดเยื้อออกไปเกินกว่าครึ่งปี รวมไปถึงโอกาสที่ไวรัสจะกลับมาระบาดอีกครั้ง จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับมาได้ช้ากว่าที่เดิมเคยคาดการ์ณไว้ ผมคิดว่าการฟื้นตัวจะเป็นในลักษณะค่อยๆ ฟื้นตัวไปตามกลุ่มภูมิภาคที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดี รวมไปถึงตามประเภทของธุรกิจและความต้องการในการใช้จ่ายจากที่ชะลอไปก่อนหน้านี้อยู่บ้าง และคงต้องใช้เวลากว่าจะกลับไปยังจุดเดิมครับ


ที่มา บลจ.ทาลิส
กำลังโหลดความคิดเห็น