สนพ.ประเมินราคาน้ำมันจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แม้ “โอเปกพลัส” บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต แต่นักวิเคราะห์ต่างมองว่ายังน้อยเกินไปจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ของโลกยังทรุดลงต่อเนื่อง ชี้ค่าการตลาดขายปลีกยังสูงแตะ 2 บาทต่อลิตร
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สพน.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกช่วง วันที่ 6-12 เมษายน 2563 โดยราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโลก หรือโอเปกและพันธมิตรนอกกลุ่ม หรือโอเปกพลัส (OPEC+) บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นการลดกำลังการผลิตไปถึงปี 2565 แต่ตลาดยังคงไม่หลุดพ้นปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด จึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีทิศทางลดลง
“แม้โอเปกพลัสจะลดกำลังการผลิตโดยเดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 จะทยอยปรับลดการผลิตลง 10 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 63 จะปรับลดลง 8 ล้านบาร์เรล/วัน และในช่วงเดือน ม.ค. 64 ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 65 จะปรับลดลงไปเหลือที่ 6 ล้านบาร์เรล/วัน ก็ตาม โดยที่ซาอุฯ และรัสเซียตกลงจะลดกำลังการผลิตประเทศละ 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างก็ประเมินว่าจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดหลุดพ้นจากปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาดจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ ล่าสุด บริษัท Trafigura คาดการณ์ว่าในเดือน เม.ย. 63 นี้ อุปสงค์น้ำมันจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ ผลของราคาน้ำมันที่ตกต่ำอาจจะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง” นายวัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับการเคลื่อนไหวราคาน้ำมันดิบดูไบ และเวสต์เทกซัส ช่วง 6-12 เม.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 24.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 24.39 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.40 และ 1.48 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ ขณะที่ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย น้ำมันเบนซิน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 21.77 และ 21.28 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.90 และ 1.14 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ ส่วนดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 36.67 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.39 เหรียญต่อบาร์เรล
ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.03 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.9722 บาท/เหรียญสหรัฐ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.18 บาทต่อลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.07 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.09 บาทต่อลิตร และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.58 บาทต่อลิตร
ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 12 เม.ย. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 56,540 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 20,391 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 36,149 ล้านบาท แยกเป็น บัญชีน้ำมัน 41,837 ล้านบาท บัญชี LPG -5,688 ล้านบาท