xs
xsm
sm
md
lg

GPSC กำไร Q1/63 โต 68% ลั่นเดินหน้าลงทุนตามแผน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GPSC เผยรายได้ไตรมาส 1/63 ทะลุ 18,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102% ดันกำไรสุทธิ 1,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท โต 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ผลประกอบการจาก GLOW เต็มไตรมาสครั้งแรก พร้อมเกาะติดโควิด-19 ไตรมาส 2 ใกล้ชิด ยันเดินหน้าลงทุนทุกโครงการได้ตามแผนเดิม มั่นใจ Synergy ผนึก 2 องค์กรเป็นหนึ่งเดียวหลังปรับโครงสร้างใหม่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มปี 2563 ได้ราว 400-500 ล้านบาท

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/63 บริษัทฯ มีรายได้รวม 18,308 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9,241 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 102% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 1,580 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องมาจากการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้ผลประกอบการจากบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW เต็มไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รับรู้รายได้เพียง 18 วัน


ทั้งนี้ รายได้จากผลประกอบการหลักๆ ได้แก่ จากการขายไฟฟ้าประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ (IPP) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2,864 ล้านบาท โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าศรีราชาเพิ่มขึ้น 461 ล้านบาท จากการเรียกรับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การรับรู้รายได้จาก IPP ทั้ง 3 แหล่งของ GLOW เพิ่มขึ้น 2,403 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสแรกปี 2562 รับรู้รายได้เพียง 18 วัน โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) รายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6,390 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จาก GLOW เต็มไตรมาส ขณะที่รายได้ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 13 ล้านบาท


ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผลประกอบการไตรมาส 4/62 บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น 29 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.2% เนื่องจากโรงไฟฟ้า IPP ไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผน ทำให้มีรายได้จากค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ AP) ที่เพิ่มขึ้น โดยมาจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่วัน จำนวน 132 ล้านบาท ขณะที่โรงไฟฟ้า SPP มีรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง 764 ล้านบาท สาเหตุมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงและมีลูกค้าหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนงาน ส่วนโรงไฟฟ้า VSPP ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้การขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้า อิจิโนเซกิ 1 (ISP1) และการขายไฟฟ้าและน้ำเย็นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน


ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 435 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 38% จากรายได้ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของโรงไฟฟ้าศรีราชาและโรงไฟฟ้าเก็คโค่วัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาส 1/63 และกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า SPP ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงต้นทุนค่าบำรุงรักษาที่ปรับตัวลดลงเพราะไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรตามแผนดังเช่นไตรมาส 4/62 นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินมีการปรับตัวลดลงภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินตามแผนชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ที่ผ่านมา


นายชวลิตกล่าวว่า ปัจจัยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและภาคธุรกิจในภาพรวม ทำให้บริษัทฯ ได้ทำการสำรวจและติดตามแผนการดำเนินงานของกลุ่มลูกค้าอย่างใกล้ชิด พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำในปริมาณที่ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น แผนการเดินเครื่องของบริษัทฯ ยังคงกำลังการผลิตไว้ได้ตามแผนเดิมที่วางไว้ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงในระบบการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภคให้ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดทำแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan : BCP) และมีการจัดเตรียมสถานที่ควบคุมพิเศษ (Safe House) ของพนักงานสายปฏิบัติงาน และการปฏิบัติงาน ณ สถานพักอาศัย (Work From Home) ของสายสนับสนุนการผลิต ซึ่งบริษัทฯ ยังคงใช้มาตรการอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลง

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าโครงสร้างองค์กรใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา ภายหลังการเข้าซื้อกิจการ GLOW ซึ่งได้เข้ามาเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท GPSC (GPSC Group) ภายใต้การบริหารงานที่เป็นองค์กรเดียวกัน ก่อให้เกิดความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดยการจัดทำแผน Synergy ทั้งทางด้านประสิทธิภาพ ความพร้อมจ่าย และการสร้างความมั่นคงในระบบการจัดส่งไฟฟ้าและไอน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนของแผนการจัดทำ Synergy ของทั้งสองบริษัท ในระหว่างปี 2562-2567 คาดว่าในปีนี้จะเริ่มรับรู้มูลค่าการทำ Synergy ร่วมกันได้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยมาจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า และโครงข่ายร่วมกัน รวมถึงส่วนงานซ่อมบำรุงที่จะมีการบริหารจัดการสัญญาซ่อมบำรุงระยะยาวให้เกิดประสิทธิภาพ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ โดยมีเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2567 จะรับรู้มูลค่าการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวประมาณ 1,600 ล้านบาท

“แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากนัก แต่มีการประเมินว่าโควิด-19 อาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ส่งผลให้เกิดการชะลอตัว บริษัทฯ จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆ ในไตรมาส 2 อย่างใกล้ชิด” นายชวลิตกล่าว

สำหรับแผนการเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าและไอน้ำต่างๆ ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย (NNEG Expansion) กำลังการผลิตตามสัดส่วน 18 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ของปี 2563 และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ มีแผนจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 โครงการโรงไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) โดยนำกากน้ำมันที่เหลือจากกระบวนการกลั่นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ที่มีความคืบหน้าทั้งในด้านการออกแบบวิศวกรรมและงานก่อสร้างฐานราก โดยแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่บ้าง แต่บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการให้โครงการแล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566
กำลังโหลดความคิดเห็น