“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่อีสานใต้ “อำนาจเจริญ-ยโสธร-มุกดาหาร” โชว์แผนลงทุนกว่า 4 แสนล้าน ปูพรมถนน, มอเตอร์เวย์, รถไฟทางคู่ ผุดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 วงเงิน 4.3 พันล้าน และตั้งงบปี 64 ศึกษาสนามบินมุกดาหาร พร้อมเร่งเปิดพื้นที่สถานีรถไฟ-สนามบิน วางสินค้าโอทอป สร้างรายได้ประชาชน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการติดตามการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ พื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร ว่า กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ทุกมิติทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน การก่อสร้างทางหลวงสายใหม่ การพัฒนารถไฟทางคู่ ทางรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด ให้การสัญจร และการขนส่งสินค้าที่จะเชื่อมโยงในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และเวียดนาม อีกด้วย
โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ ทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 82,326 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2566 และเตรียมโครงการส่วนต่อขยาย จากนครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 202 กม. วงเงิน 51,493 ล้านบาท จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินปี 2566 ก่อสร้างในปี 2568 เปิดให้บริการปี 2571 ช่วยลดเวลาเดินทางจากโคราช-ขอนแก่นลง 3-4 ชม.
ทั้งนี้ ในปี 2564 ได้รับงบประมาณ 32,636.42 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาทางหลวงสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมระยะทาง 163 กม. วงเงิน 25,738.84 ล้านบาท และงานบำรุงรักษา 404 กม. วงเงิน 6,897.58 ล้านบาท
กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโครงข่ายถนนที่จังหวัดอำนาจเจริญกว่า 10,823 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-อำนาจเจริญ ตอนยโสธร-บ.น้ำปลีก ตอน บ.น้ำปลีก-บ.หนองผือ และตอน อ.ปทุมราชวงศา-อ.เขมราฐ รวมถึงทางหลวงหมายเลข 2112 ตอนเขมราฐ-ปางแซง-หนามแท่ง และทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 อุบลราชธานี (อำเภอนาตาล)-สาละวัน (เมืองละคอนเพ็ง) และบรรเทาปัญหาการจราจร
ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ก่อสร้างทางหลวงชนบท 15 โครงการ งานอำนวยความปลอดภัย 68 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 31 โครงการ รวม 114 โครงการ
จังหวัดยโสธร ทล.ได้ดำเนินการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 23 ร้อยเอ็ด-ยโสธร ทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-บ.น้ำปลีก และ อ.สุวรรณภูมิ-ยโสธร ทางหลวงหมายเลข 2083 อ.มหาชนะชัย-อ.คำเขื่อนแก้ว รวมถึงการพัฒนาโครงการในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจร รวมงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ กว่า 9,158 ล้านบาท
ส่วน ทช.มีงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 17 โครงการ งานอำนวยความปลอดภัย 72 โครงการ งานบำรุงรักษาทาง 55 โครงการ
จังหวัดมุกดาหาร ทล.ได้ดำเนินการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 212 อ.หว้านใหญ่-อ.ธาตุพนม แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการทางหลวงหมายเลข 12 บ.นาไคร้-อ.คำชะอี รวมถึงเตรียมพัฒนาโครงการในอนาคต เช่น ทางแยกต่างระดับทางหลวงหมายเลข 212 ตัดกับทางหลวงชนบท มห.3019 ทางหลวงหมายเลข 238 ทางเลี่ยงเมืองมุกดาหาร ทางหลวงหมายเลข 2034 มุกดาหาร-นาสีนวน-บุ่งเขียว และทางหลวงหมายเลข 12 บ.คำพอก-อ.คำชะอี โดยใช้งบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ 6,070 ล้านบาท
ส่วน ทช.มีงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 8 โครงการ งานอำนวยความปลอดภัย 12 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 23 โครงการ รวม 43 โครงการ
@เตรียมขยายรถไฟทางคู่ ต่อขยายและสายใหม่ และในอนาคตอีก 7 โครงการ
สำหรับโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางราง มีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. วงเงิน 23,996 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จแล้ว และกำลังก่อสร้าง ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 26,460 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการประกวดราคาทางรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848 ล้านบาท
และโครงการในอนาคต เช่น ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 26,663 ล้านบาท ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเสนอ ครม. ส่วนทางรถไฟสายใหม่กำลังศึกษา อยู่ในแผนระยะยาวปี 2570-2579 เช่น ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ 291 กม. วงเงิน 74,712 ล้านบาท, ช่วงศรีสะเกษ-ยโสธร-ร้อยเอ็ด 163 กม. และช่วงอุบลราชธานี-ช่องเม็ก 87 กม. วงเงิน 9,197 ล้านบาท รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาทางรถไฟจาก อ.เลิงนกทา ผ่านจังหวัดอำนาจเจริญไปยังจังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 252 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 ซึ่งจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง Belt & Road Initiative เชื่อมไทยไปสู่โลก
นอกจากนี้จะมีการพัฒนาและปรับปรุงสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินบุรีรัมย์ ขยายความยาวทางวิ่ง ทางขับ รองรับ 0.78 ล้านคน/ปี ปี 64 วงเงิน 950 ล้านบาท, สนามบินขอนแก่น ขยายลานจอดเครื่องบิน วงเงิน 500 ล้านบาท รับผู้โดยสาร 2.4 ล้านคน/ปี, สนามบินร้อยเอ็ด ต่อเติมอาคารผู้โดยสาร วงเงิน 110 ล้านบาท รับผู้โดยสาร 0.75 ล้านคน/ปี, สนามบินอุบลราชธานี ปรับปรุงลานจอดรถยนต์ วงเงิน 131 ล้านบาท รับผู้โดยสาร 2.4 ล้านคน/ปี และเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอากาศยานมุกดาหาร ที่ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร วงเงินลงทุน 4,535 ล้านบาท
@เปิดพื้นที่สถานีรถไฟ-บขส. และสนามบิน ตั้งสินค้าโอทอป สร้างรายได้ให้ประชาชน
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงฯ มีแผนที่จะสนับสนุนการตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรมเจ้าท่า (จท.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาจัดหาสถานที่เพื่อให้ประชาชนนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่นมาวางจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยบูรณาการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนการขนส่งและกระจายสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุนในการจัดจำหน่าย