xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ชิงงบฟื้นฟูโควิด ชงแผนงาน 1.4 แสนล้าน “เยียวยาขนส่ง-ซื้อยางพารา-ตัดถนนทั่ว ปท.”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ศักดิ์สยาม” เผยเสนอของบฟื้นฟูเยียวยา “โควิด-19” วงเงินเกือบ 1.4 แสนล้าน วาง 3 กิจกรรม คือ เยียวยาผู้ประกอบการขนส่งทางบก 7 พันล้าน หนุนซื้อยางพารา 4 หมื่นล้าน และสร้างถนนเพิ่มประสิทธิภาพขนส่งสินค้าเกษตรและหนุนท่องเที่ยวอีก 9 หมื่นล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้สรุปแผนงานเพื่อเสนอขอจัดสรรเงินในพระราชกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท) ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เบื้องต้นแล้วจะเสนอวงเงินดำเนินการประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1. การเยียวยาผู้ประกอบการคมนาคมขนส่งทางบก วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ตนได้ลงนามเสนอไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนแล้ว จากนั้นจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

เบื้องต้นจะเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งทางบก เช่น รถโดยสาร ขสมก. บขส. แท็กซี่ ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ขายตั๋วได้น้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งการเยียวยานั้นไม่ใช่ทำเพื่อให้ผู้ประกอบการมีกำไร แต่เพื่อให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนต่อไปได้ ภายใต้ต้นทุนที่สามารถดำเนินการได้ โดยจะเป็นการอุดหนุนรายได้ที่หายไปตั้งแต่มีมาตรการเว้นระยะ โดยประเมินจากต้นทุน รายได้ จำนวนผู้โดยสารจริง ส่วนผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศ ราง และน้ำ ปลัดกระทรวงคมนาคมเร่งสรุปข้อมูล จากนั้นจะนำเสนอไปยังสภาพัฒน์ต่อไป

2. แผนงานนำยางพารามาใช้ในด้านความปลอดภัยทางถนน ทำ Rubber Fender Barriers (แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา) และเสาหลักนำทางยางพารา วงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งขอรับจัดสรรงบปี 2564 ไม่ทัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงเกษตรฯ แล้วในการจัดซื้อยางพารา โดยเม็ดเงินจะถึงมือเกษตรกรกว่า 70% ขณะที่แผนงานยางพาราเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนน กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทจะดำเนินการบนถนนที่มีขนาด 4 ช่องจราจรกว่า 12,000 กม. ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปี 63-65) วงเงินรวม 8.5 หมื่นล้านบาท

3. แผนงานโครงการก่อสร้างถนน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตร และส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยอยู่ระหว่างสรุปข้อมูล โดยจะเป็นโครงการขนาดเล็กที่กระจายทั่วประเทศ เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตไปยังตลาดได้อย่างรวดเร็วและสะดวก

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า วงเงินเยียวยาและฟื้นฟูในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่เสนอไปนั้นอาจจะไม่ได้รับตามวงเงินเสนอ โดยสภาพัฒน์จะพิจารณาข้อมูลความจำเป็นตามความเหมาะสม คาดว่าจะมีการนำเสนอ ครม.ได้ในเดือน มิ.ย.นี้เพื่อเร่งดำเนินการโครงการต่างๆ ขณะที่การใช้จ่ายงบฟื้นฟูใน พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะทำงานฯ โดยมีเลขาฯ สภาพัฒน์กลั่นกรอง และมีขั้นตอนในการอนุมัติ นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ มั่นใจได้ว่าจะมีการใช้เงินอย่างโปร่งใสและยึดประโยชน์ประชาชนสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ซึ่งมีเม็ดเงินประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งจากที่รัฐบาลได้มีการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ดี ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศได้มาก อีกทั้งไทยเป็นอันดับ 2 ของโลกที่มีแนวโน้มในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วอีกด้วย ดังนั้นเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็วแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น