“นายกฯ” เป็นประธาน “คมนาคม-เกษตร” เซ็น MOU 12 มิ.ย.นี้ ซื้อตรงน้ำยางพาราจากชาวสวนยางผ่านสหกรณ์การเกษตรฯ ผลิตแบริเออร์และเสาหลักนำทางหุ้มยางพารา ตั้งงบ 3 ปีกว่า 4 หมื่นล. ซื้อน้ำยางกว่า 1 ล้านตัน ส่งเงินถึงมือเกษตรกรกว่า 3 หมื่นล.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดซื้อน้ำยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านสหกรณ์การเกษตร ซึ่งสืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่มติอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและขอบคุณวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ โดยเป็นการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง และสร้างเสถียรภาพในการใช้ยางพารา
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ทดสอบด้านมาตรฐานความปลอดภัยของ กำแพงคอนกรีตหรือแบริเออร์หุ้มยางพาราและหลักนำทางยางพารา ว่าเป็นอุปกรณ์ ที่ช่วยลดแรงกระแทกและลดสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลง โดยในส่วนของหลักนำทางยางพาราจะลดแรงกระแทกของมอเตอร์ไซค์ได้ ส่วนแบริเออร์หุ้มยางพาราจะใช้แทนเกาะกลางถนน โดยไม่มีการทุบแบริเออร์คอนกรีตที่มีอยู่เดิม เป็นการนำมาใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางทางถนนมากขึ้น โดยมีการศึกษาร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ และผ่านการทดสอบแล้ว สามารถรับแรงกระแทกจากรถยนต์ได้สูงสุดถึง 120-130 กม./ชม. และไม่เกิดปรากฏการณ์กำแพงระเบิดแล้วพุ่งไปชนกับรถอีกเลนหนึ่ง และรถที่ชนกับแบริเออร์หุ้มยางพาราจะไม่พลิกคว่ำ โดยจะนำมาใช้กับถนนที่มีขนาดตั้งแต่ 4 เลนขึ้นไป และจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ที่ยังไม่มีเกาะกลางถนนก่อน ส่วนถนนอื่นๆ ที่มีเกาะกลางอยู่แล้วก็จะไม่มีการรื้อของเดิมออกแต่อย่างใด
แนวทางการใช้ยางพารา ผลิตเป็นหลักนำทางและแบริเออร์นั้นจะเพิ่มเม็ดเงินให้แก่เกษตรกรได้มากกว่าเดิมที่ใช้ยางพาราผสมในวัสดุก่อสร้างปูผิวถนน แบบพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (PARA AC) คือ นำยางผสม 5% โดยคำนวณจากงบประมาณผลิตที่ 100 บาท เกษตรกรจะได้รับเงินจากค่ายางพาราเพียง 5.1% ในขณะที่นำไปผลิตเป็นแบริเออร์หุ้มยางพารา เกษตรกรจะได้รับเงินถึง 70.94% (บาท) หากผลิตหลักนำทาง เกษตรกรจะได้รับเงิน 74.01% (บาท)
โดยกระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าหมายในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างแบริเออร์หุ้มยางพารา (RFB) ในระยะ 3 ปี (2563-2565) ระยะทางรวม 12,282.74 กม. วงเงินดำเนินการรวม 40,545.308 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 ดำเนินการ 250 กม. วงเงิน 825.250 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 5,742.81 กม. วงเงิน 18,957.019 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 6,289.92 กม. วงเงิน 20,763.039 ล้านบาท โดยตลอด 3 ปี เกษตรกรจะได้รับเงินประมาณ 28,763.095 ล้านบาท
ส่วนหลักนำทางยางพารา (RGP) เป้าหมายดำเนินการ 3 ปี (2563-2565) รวม1,063,381 ตัน วงเงินดำเนินการรวม 1,818.382 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2563 สร้างเสาหลักนำทาง 289,365 ต้น วงเงิน 494.814 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 334,452 ต้น วงเงิน 571.913 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 439,564 ต้น วงเงิน 751.654 ล้านบาท และตลอดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เกษตรกรจะได้รับเงินประมาณ 1,345.368 ล้านบาท โดยมีจำนวนยางพาราที่ต้องใช้ทั้งหมดตลอดเวลา 3 ปี แบ่งเป็นยางแห้ง 302,385.403 ตัน หรือคิดเป็นปริมาณน้ำยางสดที่ 1.007 ล้านตัน เป็นปริมาณน้ำยางที่จะสร้างเสถียรภาพราคายางพาราของประเทศในช่วง 3 ปีนี้
“กระทรวงจะวางแผนงานในการใช้งบประมาณ และกำหนดพื้นที่ในการใช้แบริเออร์หุ้มยางพารา และหลักนำทางยางพารา โดยซื้อน้ำยางตรงจากเกษตรกร นำมาผลิตภายใต้มาตรฐาน ที่ ทล.และทช.กำหนดและจะไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้”