ครม.เห็นชอบแผนใช้ยางพาราทำ “แบริเออร์-เสาหลักนำทาง” แก้ไขเปิดช่องจัดซื้อเฉพาะเจาะจงผ่านสหกรณ์การเกษตร ตั้งงบ 3 ปี ซื้อน้ำยางชาวสวนกว่า 1 ล้านตัน “ศักดิ์สยาม” คาดสัปดาห์หน้า เซ็น MOU เกษตร ย้ำไม่รื้อเกาะกลาง เล็งทำถนนที่เป็นเกาะสี
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (26 พ.ค.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและขอบคุณวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ โดยเป็นการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง และสร้างเสถียรภาพในการใช้ยางพารา ให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างก่อสร้างผิวทางแบบพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (PARA AC) ที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วในปีงบประมาณ 2563 เป็นผิวทางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต (AC) ซึ่งทำให้มีกรอบวงเงินเหลือ 2,500 ล้านบาท เป็นของกรมทางหลวง 1,250 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 1,250 ล้านบาท โดยนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ และหลักนำทางยางธรรมชาติ
และเห็นชอบในหลักการให้ ทล.และ ทช.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 39,175 ล้านบาท (ทล.36,401 ล้านบาท และ ทช.2,774 ล้านบาท) และ ปี 2565 วงเงิน 43,995 ล้านบาท (ทล.39,934 ล้านบาท และ ทช.4,061 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างแบริเออร์หุ้มยางพารา และหลักนำทางยางพารา
โดยภายในสัปดาห์หน้าจะลงนามในบันทึกความตกลง (MOU ) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อตรงจากเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านสหกรณ์การเกษตร ที่กระทรวงเกษตรฯ คัดเลือก และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตยางพาราที่จะนำมาใช้กับแบริเออร์และหลักนำทาง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้มีการทดสอบ ขณะที่ให้ ทล.และ ทช.ดำเนินการจดสิทธิบัตร การพัฒนานวัตกรรมแบริเออร์หุ้มยางพาราและหลักนำทางยางพาราที่ได้มีการคิดค้นและทดสอบมาตรฐานของไทยซึ่งถือเป็น Local Content
ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการ 3 ปี (63-65) แผนดำเนินงานใน 3 ปี (2563-2565) เป้าหมายจะใช้น้ำยางพาราประมาณ 3 แสนตัน ถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป ระยะทางประมาณ 12,000 กม. (ทล.10,400 กม. และ ทช.1,600 กม.) ที่เป็นเกาะสี หรือไม่มีเกาะกลางถนน โดยไม่มีรื้อเกาะกลางเดิมหรือเสาหลักเดิม คาดว่าจะใช้ยางแผ่นประมาณ 3 แสนตัน คำนวณเป็นปริมาณน้ำยางพารากว่า 1 ล้านตัน และเกษตรได้รับเงินมากขึ้น จากงบประมาณ 100 บาท เดิม จะถึงมือเกษตรกรประมาณ 5.10 บาท เป็น 70 บาท นอกจากนี้ยังเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย การก่อสร้างจะเร็วกว่าเกาะกลางจาก 3 เดือน / 1 กม. เหลือไม่เกิน 1 สัปดาห์
สำหรับยางที่หุ้มแบริเออร์นั้นมีอายุใช้งาน 3 ปี จะมีสภาพกรอบ อยู่ระหว่างศึกษาการเคลือบเพื่อยืดอายุการใช้งานและศึกษาการนำยางที่หมดอายุไปรีไซเคิล กลับมาใช้งานใหม่ได้อีกหรือไม่อย่างไร
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนที่ ครม.เห็นชอบนั้น กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักมีแนวทางส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนโดยใช้ผลผลิตจากยางพารา ดังนี้
1) แผนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ในปีงบประมาณ 2563-2565 มี RFB จำนวน 12,282.735 กิโลเมตร RGP จำนวน 1,063,651 ต้น งบประมาณรวม 85,623.774 ล้านบาท คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ จำนวน 30,108.805 ล้านบาท
2) แผนการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยใช้ยางพาราในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติ ซึ่งกรมทางหลวงชนบทจะกำหนดรูปแบบและมาตรฐาน ให้ร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง โดยจะจัดซื้อแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติดังกล่าวจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง เพื่อนำมาใช้ในงานด้านความปลอดภัยงานทาง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยการกำหนดให้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563