xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ใช้คำสั่ง ครม.ซื้อตรงยางแบริเออร์ เลี่ยง พ.ร.บ.จัดซื้อให้เกษตรกรได้เต็มๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา เฮสนั่น หลังได้รับคำยืนยัน 26 พ.ค.นี้ คมนาคมจะนำเรื่องยางพาราครอบแบริเออร์และเสาหลักนำทาง เสนอ ครม.ขอใช้วิธีซื้อตรงกับสหกรณ์ฯ ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. หากไม่ทำผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 โยกงบสร้างถนน 300 ล้านบาท ซื้อน้ำยางพารา ประเดิมล็อตแรก 250 กิโลเมตร ขณะที่สหกรณ์ฯ แจงที่ผ่านมามีแต่ความเสี่ยง ไม่กล้าลงทุน ยอมรับสหกรณ์ฯ เหมือนเด็กอนุบาล หากทำไม่ดีงบ 64-65 หลุด วอนกรมส่งเสริมฯ ปล่อยกู้ แต่เงื่อนไขสหกรณ์ต้องสมทบ 30% ทำให้สหกรณ์สะดุด





นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราด้วยการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยในงานก่อสร้างในส่วนของงานกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่ต้องการจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรงจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สมาคม สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งจะทำให้งบประมาณดำเนินการตกไปอยู่ในมือเกษตรกรโดยตรง แต่วิธีการดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะผิด พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะต้องเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดจะได้ไป)

กรมทางหลวง จึงทำหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเรื่องนี้ กรมบัญชีกลางได้ตอบกลับไปยัง ทล.ว่า หากดำเนินการดังกล่าวมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนและให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางรายย่อย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง และเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรก็สามารถทำได้

เสาหลักนำทาง
ดังนั้น นโยบายของนายศักดิ์สยาม ที่ต้องการเปลี่ยนเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ทั่วประเทศ จำนวน 700,000 ต้น ต้นละประมาณ 2,500 บาท ให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้งบปี 2563 จำนวน 2 แสนต้น ปี 2564 จำนวน 2 แสนต้น และที่เหลือ 3 แสนกว่าต้นจะใช้งบปี 2565 ก็สามารถจัดซื้อโดยตรงกับสหกรณ์ฯ ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ได้โดยไม่ผิด พ.ร.บ.การจัดซื้อฯ ปี 2560


โดยนโยบายของนายศักดิ์สยาม ยังต้องการผลักดันโครงการจัดทำแผ่นยางครอบแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier : RFB) ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการรับรองสมรรถนะความปลอดภัยจาก Rubber Fender Barrier : RFB ที่สถาบัน KATRI-Korea Automobile Testing & Research Institute ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสถาบันที่ใช้มาตรฐานเดียวกับอเมริกา และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ผลิตได้เช่นเดียวกับเสาหลักนำทาง

ส่วนปัญหาอยู่ที่ว่าแผ่นยาง RFB ไม่ได้มีการหารือไปยังกรมบัญชีกลางเหมือนกับเรื่องของเสาหลักนำทาง แต่ด้วยนโยบายของนายศักดิ์สยาม ต้องการให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรเช่นกัน ซึ่งโครงการนี้จะสัมฤทธิผลได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมนำเรื่องเข้า ครม.ในวันอังคารที่ 26 พ.ค.นี้ เพื่อเสนอแผนและรายละเอียดการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ทั้งเรื่องของ RFB ซึ่งเป็นเรื่องของงานก่อสร้าง และเสาหลักนำทาง เพื่อขออนุมัติร่างบันทึกความตกลง (MOU) ระหว่าง ก.คมนาคม และ ก.เกษตรฯ ในการใช้วิธีจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงจากเกษตรกรสวนยาง ผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรผลิตตรงให้แก่ ทล.และ ทช.โดยไม่ผ่านบริษัท หรือนายหน้าทั้งสิ้น

มติ ครม.ครั้งนี้จะทำให้สามารถซื้อตรงได้โดยไม่ผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 !

“อธิบดีกรมทางหลวง ได้ประชุมฝ่ายก่อสร้างเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สั่งโยกงบกว่า 300 ล้านบาท ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายหรือยังไม่มีการเซ็นสัญญางานก่อสร้างที่ประมูลได้แล้ว เพื่อมาจัดซื้อน้ำยางในการผลิตแบริเออร์ไว้แล้ว ซึ่งก็คงต้องมีการไปทำทุกอย่างให้ถูกขั้นตอนในการใช้งบ”






ขณะที่ผู้รับเหมาจากกรมทางหลวง บอกว่า งบประมาณที่นำไปใช้ทำแบริเออร์คอนกรีตครอบยางพารา และเสาหลักนำทางยางพาราของปี 2563 ที่จะต้องเร่งทำในเดือนกรกฎาคมนี้ ได้ตัดจากงบงานก่อสร้างที่ผู้รับเหมาประมูลงานได้แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีการเซ็นสัญญาและก็ต้องไปจัดทำแผนก่อสร้างกันใหม่จากถนนผิวลาดยางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (PARA AC) เป็นถนนผิวทางแอสฟัลต์ซีเมนต์ (AC) แทน

“ผู้รับเหมาก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง เพียงแต่ว่าจะต้องทำให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และทำอย่างไรที่จะลดความเสี่ยงของเกษตรกรได้ด้วย หากทำไม่ได้มาตรฐาน นอกจากจะขาดทุนแล้ว โครงการนี้อาจถูกเปลี่ยนเป็นของนายทุนที่มีความพร้อมได้”


ด้านเกษตรกรในกลุ่มสหกรณ์สวนยางฯ บอกว่า ตัวแทนสหกรณ์ได้ติดต่อสอบถามกับทาง ทล. และ ทช.เพื่อต้องการความชัดเจนก่อนว่า ครม.อนุมัติให้มีการจัดซื้อโดยตรงกับสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ได้หรือไม่ เพราะหากไม่อนุมัติ สหกรณ์ฯ ทุกแห่งก็ไม่กล้าที่จะลงทุน เพราะลงทุนไปแล้วก็ไม่รู้จะไปขายให้ใคร

“การทำแบริเออร์หุ้มยาง มีปัจจัยที่จะทำให้ไม่สำเร็จหลายอย่างที่สหกรณ์ก็กลัว เครื่องจักร บุคลากรที่มีพร้อมหรือไม่ หรือถ้ามีเครื่องจักร แล้วแม่พิมพ์มีพร้อมหรือไม่ และเวลานี้เราจะทำทันไหม เพราะมีเวลาเพียง 4 เดือนจะสิ้นงบปี 63 แล้ว แค่เพียงจัดทำแม่พิมพ์ก็กินเวลา 2 เดือนแล้ว เหลืออีก 2 เดือนจะผลิตได้กี่ตัว”

อีกทั้งสหกรณ์ฯ ที่มีความพร้อม ว่ากันว่าเวลานี้มีเพียง 6-8 สหกรณ์ฯ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องของเครื่องจักรที่เวลานี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ สังกัดพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งสหกรณ์ฯ เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นพรรคเดียวกันกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่มีโครงการให้ทุนสนับสนุนในการซื้อเครื่องจักร เพียงแต่ว่ามีเงื่อนไขในเรื่องของการสมทบที่ทำให้สหกรณ์และเกษตรกรสวนยางกลัวว่าจะทำให้โครงการสะดุด

“มีการคุยกันระหว่างสหกรณ์ทางเหนือและทางใต้ว่า ถ้าเราขอทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมฯ ก็จะต้องสมทบอีก 30% เขาถึงจะให้ ก็มีการพูดคุยกันว่าเราจะเอาเงินจากที่ไหน 30% มาสมทบ เช่น เราได้ทุนซื้อเครื่องจักร 10 ล้าน เราต้องหามาสมบท 3 ล้านกว่าจะทำอย่างไร”

ขณะเดียวกัน สิ่งที่สหกรณ์ฯ กลัวกันมากก็คือถ้าโครงการผลิตยางครอบแบริเออร์ ล็อตแรกของปี 2563 ไม่ประสบความสำเร็จ หรือสหกรณ์ทำได้ไม่ดี ก็ไม่ต้องพูดถึงล็อตที่ 2, 3, 4 ที่จะใช้งบปี 2564 และ 2565 ก็อาจถูกยกเลิกหรือไม่ได้ทำทั้งหมด

“ถ้าพวกเราทำพลาด สหกรณ์เป็นหนี้หัวโตแน่ๆ”


แต่จากการทดสอบทั้งเรื่องการเติมสารผลิตยางคอมปาวด์ (Rubber Compound) ที่จะนำมาทำยางครอบแบริเออร์นั้น ก็มีการทดสอบความแข็งแรง และสารทนไฟที่นำมาผสมในยางพารา เพื่อป้องกันไฟไหม้เวลาที่รถชนแบริเออร์ ก็เชื่อว่าสหกรณ์ฯ สอบผ่านในเรื่องนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี สหกรณ์ฯ คาดว่าในปี 2563 จะมีงบประมาณ 300 ล้านบาท ให้ทำในส่วนของแบริเออร์หุ้มยางได้ประมาณ 250 กิโลเมตร ก็มีการสำรวจกันว่าสหกรณ์ฯ ที่พร้อมมีที่ไหนบ้าง ก็ประมาณ 6-8 สหกรณ์ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าความพร้อมของกลุ่มสหกรณ์ฯ อยู่ในระดับอนุบาล แต่ก็เชื่อว่าถ้า ครม.อนุมัติจะทำให้การดำเนินงานชัดเจนขึ้น

“สหกรณ์สตูลมีความพร้อมแต่ทำได้แค่ 1 กิโลเมตรต่อเดือน ถ้า ครม.ชัดเจน เขาก็ต้องเพิ่มกำลังผลิต ต้องติดต่อกรมส่งเสริมฯ และหาเงินมาสมทบในการซื้อเครื่องจักร ซื้อแม่พิมพ์เพิ่ม ต้องใช้อีก 10 ล้านบาท เพื่อให้ได้มากกว่า 1 กิโลเมตร แต่ถ้าเขาทำแล้วได้ไม่ดี ปี 2564 ก็อยู่ในความเสี่ยง”

ภัทรพล ไชยสัจ เลขาธิการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา บอกว่า สหกรณ์ฯ ต่างๆ ได้มีการสอบถามและพูดคุยกันถึงเรื่องมติ ครม.ว่าจะอนุมัติเมื่อไหร่ และเรื่องของทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ก.เกษตรฯ สถาบันฯ ก็มีการจดรายชื่อสหกรณ์ที่มีความพร้อมและต้องการที่จะเดินหน้าทำโครงการแบริเออร์

“สหกรณ์บึงกาฬ ต้องการ 30 ล้าน ก็ต้องสมทบ 30% คือ 9 ล้าน ก็คิดกันอยู่ว่าจะไหวหรือไม่ ส่วนสหกรณ์ทางใต้ก็บ่นเคยได้ฟรี ไม่ต้องสมทบเมื่อปี 2559 เพิ่งจะมีการเปลี่ยนระเบียบใหม่ ปี 2560 สมทบ 10% ปี 62 หรือ 63 ขยับสมทบ 30% เพราะรัฐคิดว่าการให้สมทบเพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของในเครื่องจักรที่ใช้เงินซื้อมาด้วย”

ภัทรพล ไชยสัจ เลขาธิการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา
เลขาธิการเครือข่าย บอกว่า ที่ผ่านมา การผลิตสินค้ายางพาราออกมาขายไม่ประสบความสำเร็จเพราะต้องมาหาตลาดกันเอง มาขายตามงานแสดงสินค้าโอทอปและต้องแข่งขันกับกลุ่มโรงงาน ซึ่งสหกรณ์สู้ไม่ได้อยู่แล้ว ทำให้หลายๆ สหกรณ์เกิดความกลัวไม่กล้าที่จะลงทุน

แต่ครั้งนี้ได้บอกกับทุกๆ สหกรณ์ฯ ว่าจะมีความแตกต่างเพราะการผลิตยางครอบแบริเออร์ เราไม่ต้องหาตลาด แต่เป็นการผลิตขายให้รัฐรับซื้อโดยตรง หากสหกรณ์ฯ ตัดความกังวลเรื่องการหาตลาดและหันมาผลิตให้ได้คุณภาพ ก็จะมีงานต่อเนื่อง เพราะนโยบายของรัฐบาลชัดเจนที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางอยู่แล้ว

ภัทรพล บอกอีกว่า ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากกรมทางหลวงชนบนแล้วว่า ในวันอังคารที่ 26 พ.ค.นี้ รัฐมนตรีคมนาคม จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม.แน่นอน และอยากให้สหกรณ์สวนยางทุกแห่งเตรียมตัวให้พร้อมที่จะดำเนินการผลิตแบริเออร์หุ้มยางพาราและเสาหลักนำทางให้ได้ตามที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าไว้ เพราะตรงนี้คือรายได้โดยตรงของเกษตรกรชาวสวนยาง และหากราคายางสูงขึ้น กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ก็จะมีค่าแฟกเตอร์ F มาช่วยพี่น้องเกษตรกรอยู่แล้ว!




กำลังโหลดความคิดเห็น