xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ลุยแผน “แบริเออร์หุ้มยางพารา” จ่อชง ครม.เคาะ MOU ซื้อตรงเกษตรกว่า 3 แสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้าขออนุมัติ MOU ร่วมกับ ก.เกษตรฯ ซื้อตรงยางพาราจากเกษตรกรแบบเฉพาะเจาะจง ทำแบริเออร์-เสาหลักนำทาง ตั้งกรอบงบ 3 ปีใช้น้ำยางกว่า 3 แสนตัน เพิ่มเม็ดเงินถึงมือเกษตรกรจาก 5% เป็น 70%


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะเสนอแผนและรายละเอียดการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน เช่น การนำ Rubber Fender Barriers (แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา) และเสาหลักนำทางยางพารา ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อขออนุมัติร่างบันทึกความตกลง หรือ MOU ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อตรงจากเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรผลิตตรงให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยไม่ผ่านบริษัท หรือนายหน้าใดๆ


สำหรับแผนดำเนินงานใน 3 ปี (2563-2565) เป้าหมายจะใช้น้ำยางพาราประมาณ 3 แสนตันดำเนินการถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป ระยะทางประมาณ 12,000 กม. ที่เป็นเกาะสี หรือไม่มีเกาะกลางถนน โดยแบ่งเป็นถนนของกรมทางหลวงประมาณ 10,400 กม. และกรมทางหลวงชนบทประมาณ 1,600 กม.

โดยการนำร่องในปี 2563 ซึ่งมีงบประมาณจัดสรรแล้วสำหรับถนนผิวราดยางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (PARA AC) จะมีการพิจารณางบประมาณส่วนที่เหลือจากการขอเปลี่ยนแปลงการดำเนินการเป็นถนนผิวทางแอสฟัลต์ซีเมนต์ (AC) เพื่อนำมาใช้ทำแบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำทางยางพารา โดยจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทในวันที่ 14 พ.ค.นี้

การพัฒนานำยางพารามาใช้ทำแบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำทางนั้น เป็นการสร้างความต้องการในการใช้น้ำยางพาราเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ เนื่องจากการใช้ยางพาราในการก่อสร้างถนน ที่ผ่านมาเปรียบเทียบงบประมาณ 100 บาท จะถึงมือเกษตรกรประมาณ 5.10 บาท หรือ 5.1% เท่านั้น ขณะที่การนำยางพารามาใช้ทำแบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำ เม็ดเงินจะถึงมือเกษตรกรถึง 70 บาท หรือ 70% ขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์ในเรื่องถนนจะมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ซึ่งผ่านการทดสอบจากสถาบัน KATRI (Korea Automobile Testing & Research Institute)ประเทศเกาหลีแล้ว


“การซื้อตรงจากชาวสวนยางพาราจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมาก เพราะสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้เม็ดเงินมากกว่าการขายเป็นน้ำยางดิบทั่วไป และหาก ทล.และ ทช.ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว หลังจากนี้หน่วยงานอื่นๆ จะนำไปใช้ได้อีก เช่น มอเตอร์เวย์ ทางด่วน รวมถึงถนนของหน่วยงานท้องถิ่นที่มีขนาด 2 ช่องจราจร ก็ใช้ในส่วนของเสาหลักนำทางได้” นายศักดิ์สยามกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น