xs
xsm
sm
md
lg

ทช.ลุย 3 ปี เปลี่ยนหลักนำทางยางพารา ครบทั่วประเทศกว่า 7 แสนต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงชนบท เทงบ กว่า 1.4 พันล้าน เปลี่ยนเสาหลักนำทางยางพารา หรือ RGP ทั่วประเทศกว่า 7 แสนต้น ภายใน 3 ปี ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุและช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราให้กษตรกร

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.เตรียมนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เปลี่ยนเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post) หรือ RGP ทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการหลุดออกนอกทาง ชนกับหลักนำทางและเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยจะดำเนินการปรับเปลี่ยนเสาหลักนำทางทุกหลักทั่วประเทศ จำนวน 705,112 ต้น เป็นเสาหลักนำทางยางพาราให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้งบประมาณรวม 1,402.172 ล้านบาท

แบ่งเป็น ปี 2563 จำนวน 200,000 ต้น ปี 2564 จำนวน 200,000 ต้น และในปี 2565 อีกจำนวน 305,112 ต้น

ทั้งนี้ จากสถิติอุบัติเหตุบนทางหลวงชนบทระหว่างปี 2560 ถึง 2562 พบว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุที่พบคือ การเสียหลักหลุดออกนอกทาง ชนกับสิ่งอันตราย และจากการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุเชิงลึก พบว่าสิ่งอันตรายข้างทางที่ผู้ขับขี่เสียหลักหลุดออกนอกทางไปชนนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1. สิ่งอันตรายที่เป็นสิ่งแวดล้อมข้างทาง ได้แก่ ต้นไม้ รั้วบ้าน คันคลอง เป็นต้น 2. สิ่งอันตรายที่เป็นอุปกรณ์จราจรได้แก่ หลักนำโค้ง เสาป้ายจราจร เสาไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นต้น

และจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) (2560) ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุจราจร พบว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย

ในขณะที่หลักนำทางที่ผลิตจากยางพารามีต้นทุนการผลิตพร้อมติดตั้งอยู่ที่ 2,500 บาทต่อหลัก โดยเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยของทางโค้งบนทางหลวงชนบทที่ติดตั้งหลักนำโค้งโดยส่วนใหญ่จะใช้หลักนำโค้งอยู่ประมาณ 14 หลักต่อโค้ง คิดเป็นมูลค่าเงินที่ใช้เปลี่ยนหลักนำโค้งเป็นยางพาราอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาทต่อโค้งเท่านั้น

หากมีอุบัติเหตุหลุดโค้งชนกับเสาหลักนำทางคอนกรีตจนทำให้มีผู้ขับขี่เสียชีวิต 1 คนเกิดขึ้น จะคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียของชีวิตเท่ากับ 10 ล้านบาท แต่หากโค้งที่เกิดอุบัติเหตุนี้ได้เปลี่ยนไปใช้เสาหลักนำโค้งที่ผลิตจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงอย่างยางพาราแทน ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุหลุดโค้งชนกับเสาหลักนำทางยางพารา อาจไม่เป็นอันตรายจนถึงกับเสียชีวิต และเมื่อพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนปรับเปลี่ยนเสาหลักนำทางคอนกรีตไปใช้เสาหลักนำทางยางพารา

การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้สัญจรบนทางหลวงชนบทลงได้แล้ว ยังเป็นการผลักดันการใช้ยางพาราภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น สามารถช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้ชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในด้านการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.)


กำลังโหลดความคิดเห็น