“อธิรัฐ” ปัดฝุ่นท่าเรือคลองใหญ่ สั่ง กทท.เร่งแผนงานให้เอกชนร่วมบริหารหรือเช่าช่วง เปิดให้บริการในปี 64 ปักหมุดศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการบริหารและประกอบการท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด ว่าที่ประชุมมีมติเร่งรัดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งแผนงานเพื่อให้สามารถเปิดบริการท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ได้ภายในปี 2564
ทั้งนี้ แนวทางการบริหารท่าเรือคลองใหญ่นั้น ได้กำชับให้พิจารณาถึงผลประโยชน์ในภาพรวมของประเทศเป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยให้พิจารณาความเป็นไปได้อื่นๆ ในการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน เช่น การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหาร หรือเช่าช่วงในการบริหาร โดยให้พิจารณาแนวทางการบริหารตามระเบียบ กฎหมาย ไทม์ไลน์ โดยบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธนารักษ์ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า (จท.) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยนำความคิดเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สำหรับการพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่นั้น กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2558 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ เมื่อปี 2561 โดยมอบให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ กทท.เข้าบริหารท่าเรือคลองใหญ่
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า กทท.พร้อมรับนโยบายกระทรวงคมนาคมในการบริหารท่าเรือคลองใหญ่ ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องทำแผนการบริหารและประกอบการท่าเรือนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบก่อนจากนั้น กทท.จะทำการสำรวจเพื่อดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ เนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรมให้เรียบร้อยต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประเมินงบประมาณซ่อมแซมไว้ที่15 ล้านบาทแต่คาดว่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้น
ในการบริหารท่าเรือนั้นจะต้องหารือกรมธนารักษ์ขอให้พิจารณาอัตราค่าเช่าที่ผ่อนปรนให้แก่ กทท. เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าผลตอบแทนไม่คุ้มค่า และไม่จูงใจในการลงทุน ทั้งนี้ ท่าเรือคลองใหญ่สามารถรองรับเรือขนาด 500 ตันกรอส เป็นเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กตามชายฝั่ง โดยจะเชื่อมโยงการขนส่งระหว่าง 3 ท่าเรือ ได้แก่ แหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือคลองใหญ่ ประเทศไทย และท่าเรือสีหนุวิล ของประเทศกัมพูชา