xs
xsm
sm
md
lg

ขยาย 4 เลนถนน ฉช.3001 เสริมโครงข่ายรอบสุวรรณภูมิเชื่อมฉะเชิงเทรา เสร็จปลายปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทางหลวงชนบท” เผยขยาย 4 เลน ถนน ฉช.3001 เชื่อมฉะเชิงเทรา-กรุงเทพมหานคร กว่า 20 กม.วงเงินกว่า 3.7 พันล้าน คืบ 76% เสร็จสมบูรณ์ปลายปี 63 นี้ รองรับปริมาณจราจร สนับสนุนโครงข่ายโลจิสติกส์ รอบสนามบินสุวรรณภูมิ

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314-ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 20.329 กิโลเมตร งบประมาณ 3,712.8090 ล้านบาท โดยมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่า 76% โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างผิวจราจรและโครงสร้างสะพานส่วนบน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปี 2563 นี้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ เชื่อมโครงข่ายบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิให้สมบูรณ์ เนื่องจากปริมาณในการเดินทางและขนส่งสินค้าผ่านท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิขยายตัวเติบโตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงหมายเลข 314-ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร มีปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น เกิดความล่าช้าในการสัญจรไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยการขยายถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314-ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร เป็นการปรับปรุงถนนเดิมจากขนาด 2 ช่องจราจร ให้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร โดยเส้นทางดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 บริเวณ กม.ที่ 18+000 ตำบลคลองประเวศ แนวเส้นทางโครงการไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพาดผ่านพื้นที่ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตำบลคลองสวน ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และมีจุดสิ้นสุดบนถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 ที่ กม.20+328 บรรจบที่ถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง (บริเวณนอกเขตชุมชน) และขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า (บริเวณในเขตชุมชน) และก่อสร้างสะพานรวม 10 แห่ง รวมระยะทาง 20.329 กิโลเมตร

ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นบริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง, สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่เป็นเขตการค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น