xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “เฉลิมชัย” แจงทุกขั้นตอนเยียวยาเกษตรกรโปร่งใสตามมติ ครม. ย้ำหากตกหล่นให้ยื่นอุทธรณ์ด่วน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีกรอบเยียวยาไม่เกิน 10 ล้านราย รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 โดยจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งตามมติของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฯ ให้มีความถูกต้องครบถ้วน

รวมถึงต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายตามมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และผู้ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตราการต่างๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของการลงทะเบียนรับการช่วยเหลือเยียวยานั้น มีเกษตรกรกลุ่มแรกที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 8.33 ล้านราย แต่ภายหลังจากการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับทะเบียนฐานประกันสังคม โครงการเราไม่ทิ้งกัน และทะเบียนข้าราชการบำนาญ ทำให้คงเหลือเกษตรกรที่มีคุณสมบัติได้รับเงินเยียวยาจำนวน 7.77 ล้านราย โดยการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งที่ 1 ธ.ก.ส.ได้โอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร ระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 3.22 ล้านราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,114.76 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนเงินจนครบจำนวนเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับประเด็นการเยียวยาข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกร ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบการลงทะเบียนและรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับสิทธิตามโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งให้แก่กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการคัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิตามโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 เมษายน ก่อนส่งกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อส่งมอบข้อมูลรายชื่อต่อให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินต่อไป

ทั้งนี้ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างปรับปรุงและตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง จึงยังไม่สามารถเริ่มต้นการเพาะปลูกในฤดูการผลิต 2563/2564 ได้ ซึ่งได้กำหนดสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และจะส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบและคัดกรองเพื่อจะได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน โดยจะขออนุมัติเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงงวดเดียว รายละ 15,000 บาท ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 คาดว่าจะมีเกษตรกรรายใหม่จำนวนประมาณ 120,000 ราย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะตรวจแปลงดำเนินการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาสามารถอุทธรณ์ได้ที่สำนักงานส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด/อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/อำเภอ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต/เครือข่าย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัด/สาขา เขตระบบบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาค 1-4 และสำนักงานสรรพสามิตจังหวัด ส่วนระบบออนไลน์เข้าใช้บริการที่ www.moac.go.th



กำลังโหลดความคิดเห็น