รมช.มนัญญา ลงพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี เดินหน้าหนุนสหกรณ์แปรรูปยางพาราเพิ่มมูลค่า หลังกระทรวงคมนาคม ทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ รับซื้อเสาหลักนำทางและที่ครอบกำแพงคอนกรีตบนถนนจากยางธรรมชาติ
“มนัญญา” ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เดินหน้าหนุนสหกรณ์แปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าหลังกระทรวงคมนาคมจับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนโนบายส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ ตั้งเป้าผลิตเสาหลักนำทาง 1,063,651 ต้น และที่ครอบกำแพงคอนกรีตจากแผ่นยางธรรมชาติ ความยาว 12,282 กิโลเมตร หวังช่วยดึงราคายางเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกร ชูสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อน จำกัด อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี มีศักยภาพพร้อมเดินเครื่องผลิตเสาหลักนำทางยางพาราป้อนกรมทางหลวงชนบทเต็มที่
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อน จำกัดอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรีติดตามความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐตามนโยบายรัฐบาล พร้อมทั้งเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้และสาธิตการผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติและการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตของสถาบันเกษตรกรโดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมในโอกาสนี้ด้วย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงถึงนโยบายการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐว่าทางกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อผลักดันให้สถาบันเกษตรกรเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยการนำยางพารามาแปรรูปเป็นวัสดุด้านการจราจรและเพิ่มความปลอดภัยทางถนนได้แก่แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) สำหรับนำไปใช้ในกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
โดยกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและความปลอดภัยทางท้องถนนที่ผลิตจากยางพารา และได้มีการทดสอบการชนและการกระแทกจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแล้วว่าวัสดุที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดความสูญเสีย สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางพาราด้วยเนื่องจากโครงการนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานของกระทรวงคมนาคมรับซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต และการวางแผนการผลิตวัสดุด้านการจราจรทั้งสองชนิดให้ได้ตามปริมาณและมาตรฐานที่กระทรวงคมนาคมกำหนด
“ปี 2563 – 2565 กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนความต้องการใช้ยางพาราตามมติคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น เสาหลักนำทางยางพารา 1,063,651 ต้น และแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต ความยาวรวม 12,282 กิโลเมตร และในปี 2563 นี้ กระทรวงคมนาคมต้องการเสาหลักนำทางยางพาราชุดแรกจำนวน 289,635 ต้น ซึ่งส่วนผสมของวัสดุด้านการจราจรและความปลอดภัยทางถนนจะใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบถึง 70% ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าสหกรณ์ชาวสวนยางนั้นมีศักยภาพและพร้อมจะขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในภาครัฐของรัฐบาลในครั้งนี้ และขอให้สหกรณ์รับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในราคานำตลาด ราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการของรัฐบาลและมีรายได้เพิ่มขึ้น” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา เบื้องต้น กรมฯได้สำรวจสหกรณ์ที่มีความพร้อมผลิตเสาหลักนำทาง 10 แห่ง และแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 7 แห่ง จากการคำนวณต้นทุนการผลิตวัสดุทั้งสองชนิด จะมีส่วนเหลือที่เป็นกำไรพอสมควร และขอให้สหกรณ์ปันผลกำไรที่ได้จากโครงการนี้ลงไปถึงตัวสมาชิก ขณะนี้ต้องรอให้มีการแก้กฎกระทรวงเพื่อเปิดให้ส่วนราชการซื้อตรงจากสหกรณ์ได้
เมื่อกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงแล้ว จึงจะนำเสนอครม.เพื่ออนุมัติงบประมาณ จากนั้นจะมีการถ่ายทอดความรู้การผลิตเสาหลักนำทางและแท่งแบริเออจากยางพาราให้กับสหกรณ์ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการชุดแรก ทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต และมาตรฐานต่าง ๆ ส่วนสหกรณ์ใดที่ยังไม่พร้อมผลิตเองในขณะนี้ ก็ขอให้มาร่วม เป็นเครือข่ายเพื่อป้อนวัตถุดิบน้ำยางข้นให้กับสหกรณ์ผู้ผลิต ซึ่งกรมฯจะประสานเชื่อมโยงระบบสหกรณ์เข้าหากัน เนื่องจากโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ชาวสวนยางโดยตรง ขอให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมมือกันเพื่อดูแลความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง
ปัจจุบันสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจยางพารามีจำนวน 661 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด มีสมาชิกสหกรณ์ที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา 355,181 ราย มีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1.42ล้านราย พื้นที่ 3.4 ล้านไร่ ปีการผลิต 2562/63 สหกรณ์รวบรวมน้ำยางได้ประมาณ 475,058 ตัน มูลค่า 16,998 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57 จากผลผลิตทั้งหมดของสมาชิก
ทั้งนี้ รมช.กระทรวงเกษตรฯ และคณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการสาธิตผู้ผลิตหลักนำ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อน จำกัด โดยสหกรณ์แห่งนี้ ได้มีการ ใช้น้ำยางข้นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตประมาณ 19 กิโลกรัม/ต้นต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต้นละ 1,200 บาท สหกรณ์มีกำลังการผลิตประมาณวันละ 19 ต้น ขณะนี้ได้ผลิตไปแล้วประมาณ 200 ต้น สำหรับขั้นตอนการผลิตเสาหลักนำทางยางพารา เริ่มจากการนำน้ำยางข้น เข้าเครื่องผสมกับสารเคมีตามสูตรการผลิต เป็นการผสมเพื่ออัดแน่น ฉีดเข้าแม่พิมพ์นำเข้าเตานึ่งประมาณ1 ชั่วโมง แล้วนำเข้าเครื่องอบแห้ง 25 ชั่วโมง ก่อนจะได้เสาหลักนำทางที่สมบูรณ์พร้อมจัดส่งให้กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้รับซื้อเพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่อไป
โดยสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อน จำกัด จังหวัดจันทบุรี จัดตั้งเมื่อ17 กุมภาพันธ์ 2542 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 109 ราย ดำเนินธุรกิจหลัก 2ด้าน ได้แก่ การจัดหาสินค้ามาจำหน่ายและธุรกิจรวบรวมผลผลิต ปัจจุบัน มีทุนดำเนินงานกว่า 10.68 ล้านบาท สหกรณ์ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพของสมาชิกส่งเสริมให้มีการวางแผนการผลิตควบคู่กับการตลาด และพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งจุดเด่นของสหกรณ์ฯ แห่งนี้คือการเป็นจุดศูนย์กลางรวบรวมและแปรรูปผลิตน้ำยางพาราอย่างครบวงจร สามารถผลิตและจำหน่ายหมอนยางพารา (Natural Latex Pillow) สร้างรายได้ มูลค่า 2.13 ล้านบาท/ปี ปัจจุบันสหกรณ์เริ่มผลิตเสาหลักนำทางยางจากธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP)รวมทั้งในอนาคตได้วางแผนเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลผลิตยางพาราให้แก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรชาวสวนยางนื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏและพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager