xs
xsm
sm
md
lg

แบริเออร์หุ้มยาง..ทำได้!..ปลอดภัยจริง ชาวสวนยางเฮ!..รัฐจัดงบซื้อตรง “ศักดิ์สยาม” จัดให้ 3 ปี อย่างต่ำ 3.36 แสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นโยบายแรกๆ ที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ประกาศ คือต้องใช้ประโยชน์จากยางพาราเพิ่ม จากเดิมใช้ผสมเพื่อปูผิวทาง หรือผิวทางแบบพาราสเลอรีซีล (Para Slurry Seal) วัสดุในการทำผิวถนน มาเป็นการใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากผิวถนน เช่น แบริเออร์ หลักกันโค้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราให้มีรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืนนั้น หลังจากผ่านการวิเคราะห์ทดสอบ ความคืบหน้าล่าสุด ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยและถือว่า เดินมาถูกทาง...ไม่ได้พูดลอยๆ

หลังจากที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับนโยบายการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น การนำ Rubber Fender Barriers (แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา) มาใช้เพื่อลดโอกาสการชนกันของรถยนต์ และให้พิจารณางดการสร้างเกาะกลางแบบเกาะหญ้าสำหรับโครงการก่อสร้างถนนในอนาคต ยกเว้นในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ที่ต้องการความสวยงาม เพื่อลดงบประมาณด้านการบำรุงรักษา

ทช.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการทดสอบ Rubber Fender Barriers (RFB)​ ทั้งตัวแผ่นยางที่หุ้มแบริเออร์ ตัวคอนกรีตแบริเออร์ ผ่านการทดสอบในการรับน้ำหนัก การคงทนสภาพ ในห้องปฏิบัติการ (lab) จากนั้นได้ส่งไปทดสอบต่อที่สถาบัน KATRI (Korea Automobile Testing & Research Institute)​ ประเทศเกาหลี เมื่อเดือน ก.พ. 2563

ผลปรากฏว่ารถกระบะขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่มุมชน 20 องศา ทำให้รถกระบะแฉลบไปตามแนว Rubber Fender Barriers ซึ่งโดยปกติการชนในลักษณะนี้กับแบริเออร์คอนกรีตที่ไม่ได้หุ้มยางพารารถจะชนทะลุแท่งคอนกรีต นอกจากนี้ยังพบว่า Rubber Fender Barriers สามารถรับแรงกระแทกได้ดี โดยหุ่น dummy ในรถกระบะไม่กระเด็นเปลี่ยนทิศทาง (รับแรงกระแทกน้อยกว่า​ 60g) โดยแผ่นยางบนแท่งคอนกรีต​เสียหายเพียง 4 แผ่น​ บางแผ่นสามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ ซึ่งทีมงานวิจัยได้พัฒนารูปแบบการติดตั้ง RFB โดยใช้กาว epoxy ติดแผ่นยางกับแบริเออร์ ทำให้แผ่นยางติดแน่นและมีอายุการใช้งานมากกว่า 5​ ปี ส่วนรถยนต์พบเสียหายด้านชนเพียงด้านเดียว และไม่พลิกคว่ำ รถไม่เหินข้าม​ RFB เหมือนแบริเออร์ประเภทอื่น

สรุปได้ว่า Rubber Fender Barriers กับความเร็วของรถยนต์ที่ 120 กม./ชม. มีความปลอดภัยในการใช้ถนนเพิ่มขึ้น

ส่วนการใช้ปริมาณยางพาราของ Rubber Fender Barriers เป็นอย่างไร?

ข้อมูลก่อนหน้านี้พบว่า กรณีการใช้ยางพาราผสมเพื่อปูผิวทาง (ถนน) หรือเป็นผิวทางแบบพาราสเลอรีซีล (Para Slurry Seal) ซึ่งวัสดุในการทำผิวถนนใน 100% ใช้ยางพารา 5% ใน 5% ถือว่าน้อยมาก ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบการใช้ยางพาราต่อถนน 1 ตารางเมตร จะมีเงินไปถึงเกษตรกรเพียง 13 บาทเท่านั้น

@ “ศักดิ์สยาม” วางแผนดำเนินงาน 3 ปี “แบริเออร์หุ้มยางพารา-หลักนำทาง”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า นโยบายการใช้ยางพาราในภารกิจของกระทรวงคมนาคมในงานถนนนั้นมีเป้าหมายหลัก คือ สร้างความต้องการในการใช้น้ำยางพาราเพิ่มขึ้น และทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ ซึ่งได้มีการศึกษา วิจัย มุ่งนำยางพารามาใช้กับอุปกรณ์ความปลอดภัยทางถนน คือ แบริเออร์หุ้มยางพารา และหลักนำทาง ซึ่งกำหนดแผนงานระยะแรก 3 ปี (2563-2565) ใช้แบริเออร์หุ้มยางพาราบริเวณเกาะกลางถนนเป็นหลัก เพื่อแบ่งกั้นทิศทางการวิ่ง สำหรับถนนมีขนาดตั้งแต่ 2 ช่องจราจร (4 ช่องจราจรไป/กลับ) ขึ้นไป

ปัจจุบันถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่มีขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป มีระยะทางรวม 48,597.753 กม. ซึ่งพบว่าจะสามารถปรับปรุงใช้แบริเออร์หุ้มยางพารากั้นเกาะกลางถนนที่ระยะทาง 749.035 กม. (ปี 2563 ระยะทาง 100 กม. ปี 2564 ระยะทาง 280.811 กม. ปี 2565 ระยะทาง 368.224 กม.)

ขณะที่แผนการดำเนินงานในส่วนของการติดตั้งเสาหลักนำทางยางพารารวม 705,112 ต้น (ปี 2563 จำนวน 200,000 ต้น ปี 2564 จำนวน 200,000 ต้น ปี 2565 จำนวน 305,112 ต้น)

ถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) ที่มีขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป มีระยะทางรวม 52,085.745 กม. ซึ่งพบว่าจะสามารถปรับปรุงใช้แบริเออร์หุ้มยางพารากั้นเกาะกลางถนนที่ระยะทาง 1,029.7 กม. (ปี 2563 ระยะทาง 100 กม. ปี 2564 ระยะทาง 400 กม. ปี 2565 ระยะทาง 529.7 กม.) ขณะที่มีแผนที่จะใช้แบริเออร์หุ้มยางพารากับถนนเดิมที่เป็นเกาะร่อง เกาะยก เกาะแบริเออร์เดิมด้วย โดยจะทำให้มีระยะทางเพิ่มเป็น 11,277.225 กม.ในอนาคต

ส่วนแผนการดำเนินงานในส่วนของการติดตั้งเสาหลักนำทางยางพารารวม 414,509 ต้น (ปี 2563 จำนวน 103,627 ต้น ปี 2564 จำนวน 155,441 ต้น ปี 2565 จำนวน 155,441 ต้น)

สำหรับต้นทุนในการก่อสร้าง จากการวิเคราะห์ต้นทุนช่วงราคายางแผ่นรมควันชั้นที่ 3 (RSS3) ที่ 35-40 บาทต่อ กก. ต้นทุนค่าผลิตแบริเออร์หุ้มยางพาราขนาด 1 เมตรจะอยู่ที่ 3,344 บาท โดยจะมีเงินเป็นรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางถึง 2,167.22 บาท หรือคิดเป็น 69% ของต้นทุนค่าแบริเออร์

หากราคายางพาราอยู่ในช่วง 40-45 บาทต่อ กก. ต้นทุนค่าผลิตแบริเออร์หุ้มยางพาราขนาด 1 เมตรจะอยู่ที่ 3,507 บาท โดยจะมีเงินเป็นรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเป็น 2,319.34 บาท หรือคิดเป็น 71% ของต้นทุนค่าแบริเออร์

แต่หากราคายางพาราเพิ่มไปมากกว่า 55-60 บาทต่อ กก. ต้นทุนค่าผลิตแบริเออร์หุ้มยางพาราขนาด 1 เมตรจะอยู่ที่ 3,995 บาท โดยจะมีเงินเป็นรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเป็น 2,775.69 บาท หรือคิดเป็น 74% ของต้นทุนค่าแบริเออร์

เงินจะถึงมือเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ขึ้นกับราคายางแผ่นรมควันชั้น 3

เมื่อเห็นตัวเลขนี้แล้ว ทุกหน่วยงานก็ต้องปรับการใช้งบประมาณให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด เนื่องจากในอดีต ที่ดำเนินการนำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างถนน ปูผิวถนนนั้น พบว่าต้นทุนต่อตารางเมตรสูงแต่ถึงมือเกษตรกรน้อยมาก โดยหากลงทุน 80 บาทต่อตารางเมตร เงินถึงมือเกษตรกรเพียง 13 บาท หรือไม่ถึง 20%


“แต่รูปแบบนี้เกษตรกรจะได้รับเงินน้อยสุด 69% สูงสุด 74%”

ในส่วนของเสาหลักนำทางนั้น มีการทำตารางการวิเคราะห์ช่วงราคายางความเข้มข้น (DRC 60%) ช่วงราคายางพาราที่ 25-30 บาทต่อ กก.จะมีต้นทุนเสาหลักนำทางที่ 1,719 บาท โดยเกษตรกรจะได้รับเงินที่ 1,162.58 บาท หรือ 72%

ราคายางที่ 40-45 บาทต่อ กก. จะมีต้นทุนเสาหลักนำทางที่ 2,158 บาท โดยเกษตรกรจะได้รับเงินที่ 1,572.98 บาท หรือ 78%

หากราคายางที่ 55-60 บาทต่อ กก. จะมีต้นทุนเสาหลักนำทางที่ 2,378 บาท โดยเกษตรกรจะได้รับเงินที่ 1,778.18 บาท หรือ 80%

“เป็น 2 เรื่องที่ให้นโยบายไปดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน และสามารใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ช่วยเหลือเกษตรกร” นายศักดิ์สยามกล่าว

อนึ่ง แบริเออร์หุ้มยางพาราขนาด 1 เมตร ใช้น้ำยางประมาณ 28 กก. ดังนั้นแบริเออร์ 1,000 เมตรต้องการใช้ยางพารา 28,000 กก. หรือ 28 ต้น ดังนั้นหากสามารถดำเนินการได้ตามพื้นที่เป้าหมาย ถนนของ ทล.และ ทช. ระยะทางรวมที่ 12,306.925 กม. คูณกับปริมาณยางพารา 28 กก. เท่ากับจะต้องใช้ปริมาณน้ำยางถึง 336,000 ตัน ภายในเวลา 3 ปี หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณยางพาราที่มากกว่า การนำมาใช้ปูผิวถนน และยังใช้งบประมาณถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างเกาะกลางถนนประเภทอื่นๆ อีกด้วย

เช่น ถนนที่ก่อสร้างเป็นเกาะยก มีต้นทุน 10,000 บาทต่อ 1 เมตร หรือ 1 กม.ต้องใช้งบ 10 ล้านบาท ขณะที่ใช้แบริเออร์หุ้มยางพาราระยะทาง 1 กม.มีต้นทุนเพียง 7 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้ถึง 30%

“ภายใน 2 สัปดาห์นี้ผมจะประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อหารือในหลักเกณฑ์การใช้น้ำยางพารา การแปรรูป และปริมาณยางที่กระทรวงคมนาคมต้องการ พร้อมกับแผนการซื้อตรงจากเกษตรกรชาวสวนยาง และกำหนดแผนดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 ปีแน่นอน”












กำลังโหลดความคิดเห็น