“ศักดิ์สยาม” ยันโครงการถนนจำเป็นและมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มั่นใจผ่านการพิจารณ า สศช.รอบสอง ส.ค.นี้ ขณะที่เร่งกรองผลกระทบขนส่งทางอากาศ ขอเยียวยาเพิ่มหลังการบินกระทบหนัก สนามบินต้องอุ้มค่าแลนดิ้ง-ปาร์กกิ้ง “แอร์ไลน์”
จากกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงานโครงการรอบแรก ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งการพิจารณาจากคณะทำงาน สศช.รอบแรก จำนวน 213 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 101,482 ล้านบาท ไม่มีโครงการ/แผนงานตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอนั้น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนงานเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินดำเนินการประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1. การเยียวยาผู้ประกอบการคมนาคมขนส่งทางบก วงเงิน 7,000 ล้านบาท 2. แผนงานนำยางพารามาใช้ในด้านความปลอดภัยทางถนน ทำ Rubber Fender Barriers (แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา) และเสาหลักนำทางยางพารา วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งขอรับจัดสรรงบฯ ปี 64 ไม่ทัน และ 3. แผนงานโครงการก่อสร้างถนน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตร และส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงิน 90,000 ล้านบาท
จากการประสานกับ สศช.จะมีการพิจารณาโครงการคมนาคมในรอบที่ 2 ประมาณเดือน ส.ค. ยังไม่ได้มีการตัดทิ้งแต่อย่างใด ซึ่งโครงการก่อสร้างถนนสายนั้น กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้พิจารณาความจำเป็นมาแล้ว และอีกส่วนเป็นความต้องการและความจำเป็นที่แต่ละจังหวัดได้เสนอขอโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแผนงานโครงการที่เสนอใช้งบฟื้นฟูโควิด-19 ว่ามีความซ้ำซ้อนกับแผนงานในงบประมาณปี 2564 หรือไม่ และพิจารณาว่าเป็นไปตามกรอบเงื่อนไข คือ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมเกษตรกรในการขนส่งผลผลิตจากแหล่งผลิตไปยังตลาด
และตอบโจทย์กรอบเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินกู้ครั้งนี้ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเอื้ออำนวยให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ในการขนส่งผลผลิตจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งจำหน่าย ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง
“การพิจารณาโครงการถนนนั้นจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งเห็นว่าสภาพัฒน์อาจมีจำนวนบุคลากรไม่มากพอที่จะลงพื้นที่พิจารณาโครงการต่างๆ ในเวลาอันจำกัด นอกจากนี้ การจัดสรรงบฟื้นฟูฯ นั้นประเด็นสำคัญคือ โครงการจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลได้โดยเร็ว ยืนยันว่าโครงการถนนที่กระทรวงคมนาคมเสนอนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขและมีความจำเป็น”
@ เร่งกรองตัวเลขเยียวยาขนส่งทางอากาศ
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบขนส่งทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง เพื่อสรุปผลกระทบที่จะเสนอขอเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นทางน้ำอาจไม่มีการเยียวยา ส่วนทางอากาศนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งต้องรับภาระเยียวยา ลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Fee) และค่าธรรมเนียมการจอดอากาศยาน (Parking Fee) ให้สายการบิน ลดค่าเช่าพื้นที่ให้ผู้ประกอบการ และจากรายได้ที่ลดลงจากปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ลดลง
ส่วนการขนส่งทางรางนั้น ให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบตัวเลขต้นทุนโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งแนวทางในการเยียวยาผู้ประกอบการอาจจะใช้วิธีอื่นแทนการอุดหนุนค่าโดยสาร เช่น การปรับส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐในอนาคต เป็นต้น