“คมนาคม” จัดให้! บูมโปรเจกต์ถนน-ราง-อากาศ พื้นที่อีสานใต้ เชื่อมการเดินทางครอบคลุมไทย-ต่างประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจมั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน
ต้องยอมรับว่าในยุค “คมนาคมยูไนเต็ด” ภายใต้การบริหารงานของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งนโยบายที่สำคัญ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยมีเป้าประสงค์เพื่อกระจายความเจริญไปทั่วทุกภูมิภาค เนื่องจากสิ่งที่จะได้ตามมา คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ล่าสุด นายศักดิ์สยามได้ขนทัพผู้บริหารกระทรวงคมนาคมเต็มสูบ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ลงพื้นที่อีสานใต้ ณ “จังหวัดอำนาจเจริญ” เพื่อติดตามการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งดังกล่าว ควบรวมพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร
สำหรับการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่สำคัญ เพื่อให้การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน การก่อสร้างทางหลวงสายใหม่ การพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ ทางรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง
นอกจากนี้ยังพ่วงรวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งในด้านการเดินทางสัญจร และการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่เชื่อมโยงสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว และเวียดนาม จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เร่งรัดดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนา และปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนส่งเสริมด้านความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายทางถนน
เมื่อได้กางแผนของกระทรวงคมนาคมแล้ว พบว่า ในส่วนโครงการในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ประกอบด้วย “จังหวัดอำนาจเจริญ” โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ วงเงินกว่า 10,823 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-อำนาจเจริญ ตอนยโสธร-บ.น้ำปลีก (ตอน 1-2) ระยะทางรวม 32.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,272 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 จะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 202 ตอน บ.น้ำปลีก-บ.หนองผือ ระยะทาง 52 กม. วงเงิน 1,940 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ ด้านตะวันตกและตะวันออก ระยะทางรวม 50 กม. วงเงินรวม 4,600 ล้านบาท รวมถึงโครงการเพิ่มมาตรฐานทางชั้น 1 ทางหลวงหมายเลข 2112 ตอนเขมราฐ-ปางแซง-หนามแท่ง ระยะทาง 76 กม. วงเงิน 1,900 ล้านบาท โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 อุบลราชธานี (อำเภอนาตาล)-สาละวัน (เมืองละคอนเพ็ง) ระยะทาง 1.6 กม. วงเงิน 4,365 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับ สปป.ลาว ขณะที่การพัฒนาทางหลวงชนบท จ.อำนาจเจริญ โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในปี 2563-2564 ได้ดำเนินการรวม 114 โครงการ วงเงิน 579 ล้านบาท แบ่งเป็น การก่อสร้างทางหลวงชนบท 15 โครงการ วงเงิน 261 ล้านบาท งานอำนวยความปลอดภัย 68 โครงการ วงเงิน 102 ล้านบาท และงานบำรุงรักษาทาง 31 โครงการ วงเงิน 216 ล้านบาท
สำหรับ “จังหวัดยโสธร” ทล.ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการพัฒนาโครงการในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจร รวมงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ มูลค่ากว่า 9,158 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 23 ร้อยเอ็ด-ยโสธร (ตอน 1-2) ระยะทางรวม 59 กม. วงเงินรวม 2,055 ล้านบาท, การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-บ.น้ำปลีก (ตอน 1-2) ระยะทางรวม 32 กม. วงเงินรวม 1,272 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับยโสธร-อ.กุดชุม บริเวณทางหลวงหมายเลข 292 ตัดกับหมายเลข 2179 จำนวน 1 แห่ง วงเงิน 800 ล้านบาท ในส่วน ทช. ได้จัดสรรงบประมาณปี 2563-2564 วงเงิน 690 ล้านบาท โดยมีงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 17 โครงการ, งานอำนวยความปลอดภัย 72 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 55 โครงการ
ในส่วนของ “จังหวัดมุกดาหาร” ทล.ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการพัฒนาโครงการในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจร รวมงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ มูลค่ากว่า 6,070 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 212 อ.หว้านใหญ่-อ.ธาตุพนม ระยะทาง 24 กม. วงเงิน 1,047 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางแนวใหม่ทางหลวงหมายเลข 12 บ.นาไคร้-อ.คำชะอี (2 ตอน) ระยะทาง 37 กม. วงเงิน 2,393 ล้านบาท รวมถึงเตรียมพัฒนาโครงการในอนาคต เช่น การก่อสร้างทางแยกต่างระดับทางหลวงหมายเลข 212 ตัดกับทางหลวงชนบท มห.3019 วงเงิน 450 ล้านบาท, การเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 238 ทางเลี่ยงเมืองมุกดาหาร ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 300 ล้านบาท ในส่วน ทช. ได้จัดสรรงบประมาณปี 2563-2564 วงเงิน 348 ล้านบาท โดยเป็นงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 8 โครงการ, งานอำนวยความปลอดภัย 12 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 23 โครงการ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรางในพื้นที่ภาคอีสาน โดยได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ รวมถึงอยู่ระหว่างการประกวดราคาทางรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่เตรียมพัฒนาในอนาคต เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี และทางรถไฟสายใหม่ เช่น ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ ช่วงศรีสะเกษ-ยโสธร-ร้อยเอ็ด และช่วงอุบลราชธานี-ช่องเม็ก รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาทางรถไฟจาก อ.เลิงนกทา ผ่านจังหวัดอำนาจเจริญไปยังจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาที่สำคัญ คือ รถไฟความเร็วสูงตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมลงนามสัญญา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 ซึ่งจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง Belt & Road Initiative เชื่อมไทยไปสู่โลก อีกทั้งยังมีการบูรณาการโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับมอเตอร์เวย์ (MR-MAP) ซึ่งจะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน และลดภาระในการลงทุนของภาครัฐ โดยในพื้นที่ภาคอีสาน ประกอบด้วย 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. หนองคาย-แหลมฉบัง 2. บึงกาฬ-สุรินทร์ 3. ตาก-นครพนม และ 4. กาญจนบุรี-อุบลราชธานี
สำหรับการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ได้ดำเนินการพัฒนา และปรับปรุงท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี พร้อมทั้งเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอากาศยานมุกดาหาร ที่ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองฯ จังหวัดมุกดาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและเสริมศักยภาพจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นประตูสู่อินโดจีนอีกด้วย
... นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับแนวทางการดำเนินงานพัฒนาโครงการด้านคมนาคมในพื้นที่จังหวัดในภาคอีสานตอนล่างที่ครอบคลุมทุกโหมดการขนส่งซึ่งไม่เพียงจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ และประเทศอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญคือการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน...