xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กทพ.เคลียร์บัญชีปิดความเสี่ยงพิพาททางด่วน แบกดอกเบี้ย TFF อ่วม 3 พันล้าน/ปี เหตุ “พระราม3-N1” อืด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสุรงค์ บูลกุล อดีตประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
บอร์ด กทพ.เคลียร์หนี้พิพาททางด่วน 1.37 แสนล้าน เห็นชอบไม่ลงบัญชีปิดความเสี่ยง เผยโควิดฉุดจราจรลด แต่ปี 63 ยังมีกำไรเกือบ 5 พันล้าน ขณะที่ด่วนพระราม 3 และ N1 อืด ต้องแบกดอกเบี้ย TFF ปีละ 3 พันล้าน ด้านกรมบัญชีกลางตีความผลงานผู้รับเหมา แก้ปมร้องประมูลด่วนพระราม 3

นายสุรงค์ บูลกุล เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ว่า บอร์ดรับทราบผลการหารือสภาวิชาชีพบัญชี ประเด็นการบันทึกบัญชีจากการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) และพิจารณาแนวทางการบันทึกบัญชี โดยมีมติไม่มีการลงบัญชีหนี้ 1.37 แสนล้านบาท ในประเด็นที่เป็นข้อพิพาทกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM หลังจากตีความอย่างละเอียดและพิจารณาตามผลหารือสภาวิชาชีพ ถือเป็นประโยชน์ต่อ กทพ.ที่ไม่มีสภาพการเป็นหนี้ และสามารถปิดประเด็นความเสี่ยง

สำหรับการถอนฟ้อง คดีข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และ BEM หลังได้ข้อยุติร่วมกัน จำนวน 17 คดีนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ยื่นถอนฟ้องทั้งหมด และศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว ขณะนี้เหลือพิจารณาของศาลอีก 1 คดี เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาติดปัญหาโรคโควิด ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณาเร็วๆ นี้ จะทำให้ปิดเรื่องได้ครบสมบูรณ์

@โควิดกระทบ แต่ปี 63 ยังมีกำไร 5,000 ล้าน
นายสุรงค์กล่าวว่า การแพร่ระบาดเชื้อโควิดส่งผลทำให้ปริมาณจราจรบนทางด่วนลดลงไปกว่า 50% แต่ภาพรวมผลประกอบการของ กทพ.ในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะยังคงมีกำไรเกือบ 5,000 ล้านบาท สภาพการเงินยังคงมีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ยอมรับว่าการบริหารเงินกองทุน ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFF) ยังมีปัญหา เนื่องจากการลงทุนโครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ยังล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน ทำให้ กทพ.มีภาระดอกเบี้ยประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ซึ่งเป็นผลจากส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากที่ 1.6% ขณะที่ดอกเบี้ย TFF อยู่ที่ 6-7% ซึ่งได้กำชับให้ผู้ว่าฯ กทพ.เร่งแก้ปัญหาการร้องเรียน ประมูลทางด่วนพระราม 3 และเร่งเจรจากับ ม.เกษตรฯ เพื่อเดินหน้าทางด่วน N1

“กทพ.อยู่ในภาวะเงินล้น และมีภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ซึ่งจะหารือกับกระทวงการคลังในการหาแนวทางนำเงิน TFF ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ อาทิ ธนาคากรุงไทย มาช่วยบริหารเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝาก ซึ่ง กทพ.ยังมีข้อจำกัด จำเป็นจะต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับของ กทพ.เพื่อเปิดกว้างในการบริหารเงินกองทุน นอกเหนือจากการฝากเงินอย่างเดียว”


@กรมบัญชีกลางตีความผลงานเฉพาะงานที่เสร็จแล้ว แก้ปมร้องประมูลด่วนพระราม 3

สำหรับทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง 2 สัญญา ที่มีประเด็นที่ผู้รับเหมายื่นฟ้องร้องต่อศาล และยื่นอุทธรณ์ คือ สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม.และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. บอร์ดได้รับทราบกรณีกรมบัญชีกลางได้ให้นิยามในการตีความเรื่องคุณสมบัติใน 2 เรื่อง คือ มูลค่าของสัญญา งานใดที่จะนับรวมเป็นองค์ประกอบคุณสมบัติ 2. โครงการที่จะใช้เป็นประสบการณ์ ผลงาน ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ส่วนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จไม่สามารถนำมาเสนอเป็นผลงาน ประสบการณ์ในการยื่นประมูลได้

สำหรับสัญญาที่ 3 กลุ่มซีวิลฯ เสนอราคาต่ำสุด แต่มีประเด็นคุณสมบัติไม่ผ่าน ซึ่งทางซีวิลฯ ได้ยื่นศาลปกครอง อยู่ในระหว่างรอศาลวินิจฉัย หากศาลมีการตัดสินออกมาจะทำให้เกิดความชัดเจนและ กทพ.จะได้เดินหน้าต่อไป โดยหากศาลไม่รับคุ้มครองถือว่าข้อร้องเรียนของซีวิลฯ ครบถ้วนแล้ว กทพ.จะดูคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในอันดับ 2 หากไม่ผ่านจะพิจารณารายที่ 3 ต่อไป สุดท้ายหากไม่มีใครผ่านคุณสมบัติจึงจะยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ได้ คือต้องเดินให้สุดทางก่อนไม่เช่นนั้นจะมีการฟ้องร้องกันอีก

ส่วนสัญญาที่ 1 ผู้รับเหมาได้ยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งตามขั้นตอนหากตัดสินแล้วผู้รับเหมาไม่ยอมรับยังมีสิทธิ์ยื่นศาลปกครองได้อีก ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก ซึ่งได้กำชับให้ผู้ว่าฯ กทพ.หาแนวทางเร่งรัดการก่อสร้างต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น