กทพ.ถก “ม.เกษตรฯ” เสนอรูปแบบ “โดมครอบทางด่วน” ช่วง N1 เผย ม.เกษตรฯ ยังมีข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมและยังไม่ตอบรับ เตรียมเสนอคณะทำงาน “คมนาคม” เคาะไปต่อหรือพับแผน หวั่นยื้อต่อแบกดอกเบี้ย TFF บาน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1 ว่า จากที่กระทรวงคมนาคมและ กทพ.ได้สรุปรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีหลังคาครอบ พร้อมระบบสเปรย์น้ำ ซึ่งจะแก้ปัญหาด้านฝุ่นละออง ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางเสียงได้ และได้นำหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งเบื้องต้นทาง ม.เกษตรฯ ยังมีข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ ซึ่ง กทพ.จะนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาหารือและพิจารณาทางเลือกต่อไป
“ทาง ม.เกษตรฯ ยังไม่ตอบเห็นด้วย จะบอกว่าคำตอบยังเป็นลบอยู่ก็ได้ ซึ่งผมได้รายงานข้อมูลต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แล้วว่าทาง ม.เกษตรฯ มีข้อห่วงใยอย่างไร ซึ่งอาจต้องหาแนวทางอื่นที่จะเดินหน้าต่อไป หรืออาจต้องยอมเจ็บแต่จบ”
รายงานข่าวแจ้งว่า กทพ.ได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างทางด่วนตอน N1 ช่วงถนนงามวงศ์วาน ผ่าน ม.เกษตรฯ เป็นทางด่านยกระดับและก่อสร้างหลังคาครอบด้านบนเพื่อป้องกันผลกระทบด้านเสียงและฝุ่นละออง ควันพิษ PM 2.5 ลงสู่ด้านล่าง ซึ่งในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี มีการก่อสร้างทางด่วนในรูปแบบนี้ ซึ่ง กทพ.พร้อมที่จะออกแบบและนำเทคโนโลยีที่มีมาใช้ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
อีกทั้งเป็นการใช้พื้นที่ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมและใช้พื้นที่น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางอื่นๆ ที่จะต้องมีการเวนคืนและเปิดพื้นที่ใหม่ซึ่งจะมีผลกระทบสูงกว่า
ทั้งนี้ การหารือ เบื้องต้นทาง ม.เกษตรฯ มีข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งทาง ม.เกษตรฯ จะนำข้อมูลหารือภายในและทำความเห็นตอบ กทพ.เป็นทางการอีกครั้ง ซึ่ง กทพ.จะนำประเด็นห่วงใยของ ม.เกษตรฯ เสนอต่อคณะทำงานร่วมฯ พิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างทางด่วนช่วง N1 ที่ผ่าน ม.เกษตรฯ มีปัญหายืดเยื้อมานานหลายปี ส่งผลให้โครงการล่าช้าและกระทบต่อแผนการลงทุน และแผนการใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ซึ่ง กทพ.ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย ขณะที่ กทพ.และกระทรวงคมนาคมได้พยายามหารูปแบบการก่อสร้างโดยใช้หลักทางวิศวกรรมช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากทาง ม.เกษตรฯ ยังไม่ยอมรับ มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการยกเลิก
สำหรับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือนั้น ประกอบด้วย ช่วง N1 ทดแทน (ผ่าน ม.เกษตรฯ) และต่อเชื่อมกับ ช่วง N2 จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. วงเงินลงทุน 14,3742 ล้านบาท โดยเป็นโครงข่ายในการเชื่อมการเดินทางโซนตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) หากไม่มี N1 การก่อสร้าง N2 ก็อาจไม่มีประโยชน์ และไม่สามารถแก้ปัญหาปริมาณจราจรในพื้นที่ที่แออัดได้