xs
xsm
sm
md
lg

ม.เกษตรฯยังไม่โอเค โดมครอบทางด่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้ว่าฯ กทพ.ถก ม.เกษตรฯ เสนอรูปแบบ "โดมครอบทางด่วน" ช่วง N1 เผย ม.เกษตรฯ ยังมีข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม และไม่ตอบรับรายงาน"ศักดิ์สยาม"รับทราบ เตรียมเสนอคณะทำงาน คมนาคม เคาะไปต่อ หรือพับแผน หวั่นยื้อต่อแบกดอกเบี้ยTFFบาน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1ว่า จากที่กระทรวงคมนาคม และกทพ.ได้สรุปรูปแบบ การก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีหลังคาครอบ พร้อมระบบสเปรย์น้ำ ซึ่งจะแก้ปัญหาด้านฝุ่นละอองฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางเสียงได้ และได้นำหารือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นทางม.เกษตรฯ ยังมีข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ ซึ่งกทพ.จะนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาหารือและพิจารณาทางเลือกต่อไป

"ทางม.เกษตรฯ ยังไม่ตอบเห็นด้วย จะบอกว่าคำตอบยังเป็นลบอยู่ก็ได้ ซึ่งผมได้รายงานข้อมูลต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมแล้ว ว่าทาง ม.เกษตรฯ มีข้อห่วงใยอย่างไร ซึ่งอาจต้องหาแนวทางอื่น ที่จะเดินหน้าต่อไป หรืออาจต้องยอมเจ็บ แต่จบ"

รายงานข่าวแจ้งว่า กทพ.ได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างทางด่วนตอน N1 ช่วงถนนงามวงศ์วาน ผ่าน ม.เกษตรฯ เป็นทางด่านยกระดับและก่อสร้างหลังคาครอบด้านบน เพื่อป้องกันผลกระทบเสียงและฝุ่นละออง ควันพิษ PM2.5 ลงสู่ด้านล่าง ซึ่งในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี มีการก่อสร้างทางด่วนในรูปแบบนี้ ซึ่งกทพ.พร้อมที่จะออกแบบและนำเทคโนโลยีที่มีมาใช้ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด อีกทั้งเป็นการใช้พื้นที่ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสม และใช้พื้นที่น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางอื่นๆ ที่จะต้องมีการเวนคืนและเปิดพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะมีผลกระทบสูงกว่า

ทั้งนี้ การหารือเบื้องต้น ทาง ม.เกษตรฯ มีข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งทางม.เกษตรฯ จะนำข้อมูลหารือภายในและทำความเห็น ตอบ กทพ.เป็นทางการ อีกครั้ง ซึ่งกทพ. จะนำประเด็นห่วงใยของ ม.เกษตรฯ เสนอต่อคณะทำงานร่วมฯพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้าง ทางด่วนช่วง N1 ที่ผ่าน ม.เกษตรฯ มีปัญหายืดเยื้อมานานหลายปี ส่งผลให้โครงการล่าช้า และกระทบต่อแผนการลงทุน และแผนการใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF)ซึ่ง กทพ.ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย ขณะที่ กทพ.และกระทรวงคมนาคมได้พยายามหารูปแบบการก่อสร้างโดยใช้หลักทางวิศวกรรมช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งหากทาง ม.เกษตรฯ ยังไม่ยอมรับ มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการยกเลิก

โดยทางด่วน ขั้นที่3 สายเหนือนั้น ประกอบด้วย ช่วง N1 ทดแทน (ผ่านม.เกษตร) และต่อเชื่อมกับ ช่วง N2 จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. ซึ่งวงเงินลงทุน 14,3742 ล้านบาท โดยเป็นโครงข่ายในการเชื่อมการเดินทางโซนตะวันออก-ตะวันตก ( East –West Corridor)หากไม่มี N1 การก่อสร้าง N2 ก็อาจไม่มีประโยชน์ และไม่สามารถแก้ปัญหาปริมาณจราจรในพื้นที่ที่แออัดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น