xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 1.6 พันล. ผุดทางด่วนเชื่อม S1-ท่าเรือคลองเตย-กทพ.เคาะแนวที่ 3 ลดเวนคืน-ถก กทท.แบ่งลงทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ.เลือกแนวทางที่ 3 ผุดทางด่วน บางนา-อาจณรงค์ (S1) เชื่อมท่าเรือกรุงเทพ วงเงิน 1,600 ล้าน เผยเวนคืนน้อย เป็นชุมชนสวนอ้อยในพื้นที่ท่าเรือ เร่งหารือสัดส่วนลงทุนกับ กทท. สรุปผล ธ.ค.นี้ ออกแบบ 1 ปี เริ่มก่อสร้างปี 66

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวสายทางและรูปแบบทางขึ้นลงที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ว่า โครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กทพ.และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการแก้ปัญหาการจราจรบนถนนอาจณรงค์บริเวณทางเข้าท่าเรือกรุงเทพ และถนนโครงข่ายโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ 
 
โดยการศึกษาจาก 3 แนวสายทาง ได้คัดเลือก แนวเส้นทางที่ 3 และใช้รูปแบบทางขึ้น-ลงที่ 6 จากที่มีการศึกษาทั้งหมด 8 รูปแบบ ซึ่งแนวเส้นทางที่ 3 มีความเหมาะสมที่สุด ค่าก่อสร้างไม่สูงมากนัก ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยและพื้นที่การเวนคืนต่ำที่สุด แต่มีข้อด้อยกว่าอีก 2 แนวทาง เนื่องจากมีรัศมีความโค้งแคบกว่า โดยคาดว่าจะมีปริมาณรถบนโครงข่ายประมาณ 15,000 คัน/วัน ซึ่งเป็นรถบรรทุกถึง 7,000 คัน

ทั้งนี้ ประเด็นที่ชุมชนในพื้นที่ยังกังวล คือ เรื่องผลกระทบต่อชีวิตและการต้องออกจากที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในเดือน พ.ย.อีกครั้ง จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี ก่อสร้าง 2 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1,600 ล้านบาท

ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า เนื่องจากทางด่วนเชื่อมท่าเรือและ S1 เป็นอยู่ในพื้นที่ของท่าเรือกรุงเทพ ซึ่ง กทท.กำลังศึกษาวางผังแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและขนส่งสินค้าทางน้ำ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ โดย กทท.จะต้องนำข้อมูลการศึกษาทางด่วน รวมในแผนแม่บทและนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. ซึ่งในทางคู่ขนานช่วง 1-3 เดือนนี้ กทพ.และ กทท.จะหารือถึงรายละเอียดของความร่วมมือ รวมถึงสัดส่วนในการลงทุน และรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดเก็บค่าผ่านทาง เป็นต้น

โดยข้อมูลจาก กทท.ระบุว่า แผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพมี 3 ส่วน คือ Smart Community, Smart City, Smart Port ซึ่งทางด่วนเชื่อมท่าเรือกับ S1 อยู่ใน Smart Port โดยจะเร่งสรุปข้อมูลของทางด่วน และวิเคราะห์ร่วมกับแผนพัฒนาในส่วนของ Smart Port เพื่อแยกนำเสนอบอร์ด กทท.ได้ก่อน โดยทางด่วนเชื่อม S1 จะกระทบชุมชนสวนอ้อยซึ่งอยู่ในเขตท่าเรือ พื้นที่เกือบ 2 ไร่ ที่ต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยตามแผนจะให้ไปอยู่ที่อาคารที่พักแห่งใหม่ในโครงการ Smart Community

สำหรับแนวสายทางเลือกที่ 3 มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณประตูทางเข้าออกท่าเรือกรุงเทพ Terminal 3 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร (ไป/กลับ) อยู่ด้านบน ไปตามแนวถนนอาจณรงค์ ข้ามถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ และ แยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) กับทางด่วน S1 มีระยะทาง 1,284 เมตร

โดยมีทางเชื่อม Ramp No.1 ท่าเรือกรุงเทพ-S1 (ไปทางพิเศษฉลองรัช) ระยะทาง 678 เมตร, ทางเชื่อม Ramp No.2 S1-ท่าเรือกรุงเทพ (มาจากทางพิเศษฉลองรัช) ระยะทาง 702 เมตร, ทางเชื่อม Ramp No.3 ท่าเรือกรุงเทพ-S1 (ไปทางพิเศษบูรพาวิถี) ระยะทาง 961 เมตร, ทางเชื่อม Ramp No.4 S1-ท่าเรือกรุงเทพ (มาจากทางพิเศษบูรพาวิถี) ระยะทาง 788 เมตร






กำลังโหลดความคิดเห็น