บอร์ด กทพ.เคาะงบ 380 ล้านบาทจ้างที่ปรึกษาออกแบบทางด่วน “รามอินทรา-นครนายก-สระบุรี” ระยะทาง 104.7 กม. เร่งออกแบบใน 540 วัน ผุดทางเลือกเดินทางไปภาคอีสานและตะวันออก ชง ครม.ขึ้นทางด่วนฟรีหยุดชดเชยสงกรานต์ช่วง 4-7 ก.ย.
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทพ.วานนี้ (20 ส.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่ กทพ.เสนอว่าจ้าง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอพซิลอน จำกัด เป็นที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. วงเงิน 380 ล้าน ระยะเวลา 540 วัน โดยบอร์ดได้กำชับให้ กทพ.เร่งลงนามสัญญาจ้างเพื่อให้เริ่มงานได้เร็วที่สุด
โดยหลังการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จให้ กทพ.เปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างทันที ซึ่งโครงการจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อสร้างต่อเชื่อมจากทางพิเศษฉลองรัช หรือ ทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ถึงจังหวัดนครนายก ช่วงที่ 2 ก่อสร้างจากนครนายก ถึงจังหวัดสระบุรี
ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาโครงการมีค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 80,594.31ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 7,395.42 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) จำนวน 73,198.89 ล้านบาท
สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก เป็นทางพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร มีแนวเส้นทางไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ จากนั้นเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านถนนลำลูกกา บริเวณ กม. 22+500 ทางหลวงชนบท นย.3001 ถนนรังสิต-นครนายก บริเวณ กม. 59+800 แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม.116 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (สายบางปะอิน-นครราชสีมา) และทางเลี่ยงเมืองสระบุรี สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ ที่ กม.10+700 อำเภอแก่งคอย มีทางขึ้น-ลง 9 แห่ง
โดยแนวเส้นทางจะเพิ่มความสะดวก และประหยัดเวลาแก่ผู้ใช้ทางเส้นทางที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงผู้ใช้เส้นทางจากภาคตะวันออกสามารถเดินทางสู่ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
@หยุดชดเชยสงกรานต์ขึ้นทางด่วนฟรี
นายสุรงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ดรับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) วันที่ 4 และ 7 ก.ย. 2563 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศเป็นวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทานกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
ส่วนทางพิเศษสายบูรพาวิถี (สายบางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษสายกาญจนาภิเษก (สายบางพลี-สุขสวัสดิ์) จะมีการยกเว้นค่าผ่านทางในวันที่ 4 และ 7 ก.ย. ตาม ครม.ประกาศเป็นวันหยุดชดเชย ส่วนวันเสาร์ที่ 5-วันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย. 2563 ซึ่งอยู่คั่นกลางนั้น การยกเว้นค่าผ่านทางเพื่อให้ติดต่อกัน 4 วันจะต้องเสนอ ครม.เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากทางด่วนทั้ง 2 สายทางอยู่ในเงื่อนไขโครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFF หากจะมีการยกเว้นค่าผ่านทางจะผิดเงื่อนไขกองทุนหรือไม่ เนื่องจากมีผลต่อรายได้ส่งเข้ากองทุน