xs
xsm
sm
md
lg

เร่ง EIA ดันประมูลด่วน N2 พ่วงตอม่อสีน้ำตาล-ส.ค.คุย ม.เกษตรฯ เคลียร์โมเดล N1

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ.ทบทวนรายงาน EIA ทางด่วน N2 เชื่อมวงแหวนฯ 11.3 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้าน คาดเปิดประมูล ปี 64 พร้อมก่อสร้างตอม่อรถไฟฟ้าสีน้ำตาลให้ด้วย คาด ส.ค.นี้ ม.เกษตรฯ พร้อม ถกโมเดลโดมครอบทางด่วน ตอน N1

นายวิชาญ เอกรินทรากุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ (ด้านการบริหาร) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือและสายใต้) ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม.ว่า สาเหตุที่มีการศึกษาทบทวน เนื่องจาก EIA เดิม ทำไว้เมื่อ 20 ปีแล้วพร้อมกับโครงการก่อสร้างถนนเกษตร-นวมินทร์ ขณะที่ปัจจุบันกทพ.จะก่อสร้างทางด่วน. ตอน N2 ซึ่งมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-มีนบุรี (บึงกุ่ม) ร่วมแนวเส้นทางด้วย ประกอบกับเวลาและสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้ต้องปรับปรุงรายงาน EIA เดิม ซึ่ง กทพ.จ้างที่ปรึกษา ทบทวนรายงาน EIA เป็นเวลา 10 เดือน วงเงิน 14.3 ล้านบาท สัญญาสิ้นสุด 16 ก.ย. 2563 โดยขยายจากเดิม 55 วันจากผลกระทบโควิด-19 จากนั้นจะสรุปเสนอ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)

สำหรับทางด่วน N2 มีค่าก่อสร้าง 17,000 ล้าน ใช้เงินจากกองทุน TFF คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2565 ใช้เวลา 36 เดือน จัดเก็บค่าผ่านทาง 20/40/60 บาท สำหรับรถ4/6-10/มากกว่า10 ล้อ คาดว่าปีแรก มีปริมาณจราจร 70,000- 80,000 เที่ยว/วัน

@ คาด ส.ค. ถก ม.เกษตรฯ โมเดลโดมครอบทางด่วน

นายชาตรี ตันศิริ รักษาการรองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้าง กทพ.กล่าวว่า กทพ.จะประมูลก่อสร้างทางด่วนN2 วงเงิน 17,000 ล้านบาท โดยมีเนื้องานในการก่อสร้างฐานรากและตอม่อรถไฟฟ้าสีน้ำตาลวงเงิน 1,500 ล้านบาทร่วมเข้าไปด้วย ซึ่งการรถไฟฟ้าชนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ กทพ.ดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกัน เพื่อลดผลกระทบ โดยรถไฟฟ้าสีน้ำตาลจะอยู่ใต้โครงสร้างทางด่วน ระยะทางประมาณ 6.97 กม. มีเสารถไฟฟ้า 280 ต้น ก่อสร้างประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนโครงสร้างที่เหลือรฟม.จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP

โดยการประมูลนั้นจะหารือกับกรมบัญชีกลาง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 หน่วยงานสามารถประกวดราคาร่วมกันได้ และหารือกับ รฟม.ในเรื่องการควบคุมงาน ว่าจะให้กทพ.ดำเนินการ เบ็ดเสร็จหรือรฟม.ส่งทีมเข้ามาร่วมทำงานด้วย

ส่วนความคืบหน้าทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 ซึ่งจะใช้แนวเส้นทางเดิม ไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้ามถนนวิภาวดีรังสิต เลี้ยวซ้ายไปเชื่อมกับทางพิเศษศรีรัช บริเวณบางซื่อ โดยทำโดมครอบช่วงผ่าน ม.เกษตรฯ ป้องกันเสียง ฝุ่น และมลพิษต่างๆ ค่าก่อสร้างประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้ ม.เกษตรฯ พิจารณาแล้ว คาดว่าจะมีการประชุมร่วมกับม.เกษตรได้ช่วงต้นเดือนส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1 และ N2 )นั้นเป็นโครงการเดียวกัน ซึ่ง คจร.มีมติให้ดำเนินการพร้อมกัน แต่ก่อสร้างเป็นเฟสได้ ขณะที่การขออนุมัติส่วนของ N2 จึงต้องรอให้ช่วง N1 มีความชัดเจนเรื่องแนวเส้นทางก่อน. คาดว่าจะเสนอขออนุมัติช่วง N2 ได้ช่วงปลายปีนี้ และเปิดประมูลไม่เกินปลายปี 2564








กำลังโหลดความคิดเห็น