ปลัดคมนาคมมั่นใจปรับแบบทางด่วนขั้นที่ 3 ทำโดมครอบพร้อมระบบสเปรย์น้ำ ส่งรถวิ่งยาวข้ามเกษตรไม่มีทางขึ้นลง ตัดปัญหารถกระจุกตัว คาดยุติแบบได้ก่อนเกษียณ ก.ย.นี้ หากยังไม่ผ่านคงต้องพับ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1 นั้น อยู่ระหว่างการประสานงานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีข้อกังวลในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และปัญหาจราจร โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เสนอรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีหลังคาครอบ พร้อมระบบสเปรย์น้ำ ซึ่งจะแก้ปัญหาด้านฝุ่นละออง ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางเสียงได้
ส่วนด้านปัญหาจราจรนั้น ได้ออกแบบเป็นทางด่วนขนาด 4 ช่องจราจร ไป/กลับ ถือเป็นทางด่วนขนาดเล็ก และไม่มีทางขึ้น-ลง ที่บริเวณเกษตรฯ เนื่องจากเป้าหมายของทางด่วนสายนี้ต้องการระบายรถ จากตะวันออก-ตะวันตกของ กทม. โดยทางขึ้นลงจะเชื่อมกับโครงข่ายด้านหัวและท้าย ที่ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ และทางด่วนอาจณรงค์ ดังนั้นจะไม่ทำให้เกิดปัญหาจราจรแออัดที่แยกเกษตรฯ
ทั้งนี้ ทางด่วนช่วงผ่าน ม.เกษตรฯ ปรับปรุงแบบให้เหมาะสมที่สุดตอนนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), กทพ., การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังหารือกับม.เกษตรฯ ซึ่งจัดทีมวิศวกร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างมาคุยกัน เพราะเราต้องการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมให้จบก่อน หากไม่จบก็เท่ากับทางวิศวกรรมเป็นไปไม่ได้ EIA ก็คงไม่ผ่าน เพราะติดเรื่องชุมชนไม่ยอมรับแบบ หากเป็นแบบนั้นก็ต้องหาทางกันใหม่
“เท่าที่ดู แนวโน้มค่อนข้างดี เป็นทางเลือกวิศวกรรมที่ทำได้ รอทาง ม.เกษตรฯ ยอมรับ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ม.เกษตรฯ ต้องการจึงไม่มีปัญหาคัดค้าน”
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายว่าก่อนครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้จะพยายามหาย้อยุติโครงการที่มีปัญหาคั่งค้าง เช่น ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1 รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รวมถึงการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม การลงนามสัญญาระบบรถไฟไทย-จีน (สัญญา 2.3) การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นงานต่อเนื่องที่ตนได้ดูแลมาตั้งแต่แรก หากมีข้อยุติชัดเจนจะทำให้ปลัดคมนาคมคนใหม่เข้ามาทำงานโดยไม่มีภาระ