xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” พอใจเบี่ยงเลน “พระราม 2” ลุยตอกเข็ม จี้รับเหมาห้ามดีเลย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ตรวจพระราม 2 พอใจแผนจราจรเบี่ยงเลน เริ่มตอกเข็มทางยกระดับ และทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง สั่งตามงานก่อสร้างใกล้ชิด ห้ามดีเลย์ ห้ามขยายสัญญารับเหมา ส่วนช่วงหยุดยาวหยุดก่อสร้างให้คืนผิวจราจรชั่วคราว

วันนี้ (18 ก.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ถนนพระราม 2 เพื่อตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง (ทล.) และโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (สัญญาที่ 2) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยได้ฟังบรรยายสรุปภาพรวมที่บริเวณสำนักงานโครงการควบคุมการก่อสร้างทางยกระดับฯ ที่กม.15+800 ซึ่งมีศูนย์บริหารการจราจรระหว่างการก่อสร้าง จากนั้นได้ลงพื้นที่ไปยังบริเวณ กม.19+000 และพื้นที่ก่อสร้าง กม.15 และจุดสุดท้าย บริเวณ กม.4+480 พื้นที่ก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้ตรวจการปฏิบัติงานของศูนย์บูรณาการสั่งการ Single Command Center เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยหลังจากที่ผู้รับเหมาของ กทพ.ได้นำเครื่องจักรเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.แล้ว สภาพการจราจรเป็นอย่างไร ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้ดีหรือไม่ ซึ่งในการจัดการจราจรยังคงจำนวน 4 ช่องจราจรเท่าเดิม แต่มีการลดขนาดความกว้างช่องจราจรลงจาก 3.5 เมตร หรือ 3 เมตร ซึ่ง ทล.และ กทพ.ได้เก็บข้อมูลจริง สถิติความเร็วรถเฉลี่ยอยู่ที่ 53.9 กม./ชม. ลดลงจากช่วงก่อนหน้ามีความเร็วเฉลี่ย 55.7% ภาพรวมการจราจรคล่องตัว อาจจะมีการชะลอตัวบ้างเล็กน้อย

นอกจากนี้ ได้เน้นในการจัดระเบียบการวางแบริเออร์ ป้ายสัญญาณต่างๆ ไม่ให้เกิดการบดบังสายตาผู้ขับขี่ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจร และประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงมีการติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 12 จุด ครอบคลุมพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะส่งสัญญาณสภาพการจราจรแบบ Real Time ไปยังศูนย์ควบคุมการก่อสร้าง ที่มีเจ้าหน้าที่ประจำ 24 ชม. สามารถประสานงานได้ตลอดเวลาเมื่อเกิดเหตุต่างๆ และสัญญาณจาก CCTV ยังเชื่อมไปยังตู้จราจรของตำรวจ และผ่าน Highway Traffic Application ของ ทล. และ EXAT Portal Application ของ กทพ.ได้

สำหรับการก่อสร้าง ได้ใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะวางตอม่อที่ใช้เวลาน้อย และสะดวก ราคาตัวละกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเข้ามาใช้ก่อสร้างถึง 12 ชุด เพื่อเร่งรัดก่อสร้างและคืนผิวจราจรได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ระยะเวลาก่อสร้างโครงการประมาณ 3 ปีจะเร่งรัดให้เสร็จตามสัญญาหรือเร็วกว่า จะมีการติดตามและรายงานผลการก่อสร้างทุกเดือน การก่อสร้างจะต้องไม่มีการขยายเวลา หากพบว่าเกิดล่าช้ากว่าแผนจะต้องเร่งแก้ไขทันที ยกเว้นเหตุที่สุดวิสัยจริง ซึ่งเมื่อการก่อสร้างทั้งทางยกระดับและทางด่วนเสร็จ ถนนพระราม 2 จะมีพื้นที่จำนวน 14 ช่องจราจรไป/กลับ และทางด่วนหรือทางยกระดับด้านบนอีก 6 ช่องจราจรไป/กลับ เท่ากับผิวจราจรมีทั้งหมด 20 ช่องจราจรไป/กลับ

“การแก้ปัญหาถนนพระราม 2 เจ็ดชั่วโครต ท่านนายกฯ กล่าวชมเชย แต่ต้องไม่ลืมว่าในช่วง 3 ปีจากนี้ยังจะต้องมีการก่อสร้างอีก 2 โครงการ ซึ่งอาจจะมีปัญหาได้ทุกเมื่อ ดังนั้นต้องทำงานกันต่อไป“

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเสนอให้เพิ่มเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น ซึ่งได้ให้กรมทางหลวง และ กทพ.บูรณาการกับท้องถิ่น และเพจต่างๆ ของจังหวัดเพื่อแจ้งข้อมูลด้านการก่อสร้างและการจัดจราจรได้อย่างรวดเร็ว สำหรับช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้ วันที่ 24-29 ก.ค. จะขอความร่วมมือผู้รับจ้างหยุดการก่อสร้างเพื่อคืนผิวจราจรให้ประชาชนได้เดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาได้นำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ในโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางประมาณ 8.335 กม. จำนวน 2 จุด ได้แก่ กม.14+000 ถึง กม.15+000 และ กม.18+000 ถึง กม.20+295 โดยกั้นพื้นที่ทำงานเพียง 1 ช่องจราจรด้านชิดเกาะกลางเท่านั้น ทำให้มีช่องการจราจรทิศทางละ 6 ช่องจราจร พร้อมติดตั้งป้ายเตือนตลอดทั้งโครงการบริเวณจุดเข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้างและบริเวณจุดเริ่มต้น-สิ้นสุดเขตก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟสัญญาณเตือนเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

ส่วนโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 11.7 กม. ปัจจุบันมีความคืบหน้าเร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ โดยแบ่งเป็นตอน 1 กม.9+800-13+300 คืบหน้า 72% ตอน 2 กม.13+300-17+400 คืบหน้า 80% และตอน 3 กม.17+400-21+500 คืบหน้า 89% ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563

ด้าน นายชาตรี ตันศิริ ผู้อำนวยการก่อสร้างทางพิเศษ รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา กทพ. กล่าวว่า กทพ.และ ทล.ได้บูรณาการร่วมกันในทุกมิติ ทั้งการออกแบบเพื่อให้ได้รูปแบบของโครงสร้างทางยกระดับที่มีความสอดคล้องกัน โดยใช้ Precast Box Segment เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง บูรณาการในด้านประชาสัมพันธ์ข้อมูลการก่อสร้าง การจราจร โดยบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญา












กำลังโหลดความคิดเห็น