“รถไฟไทย-จีน” ติดปม EIA ติงแบบสถานีอยุธยากระทบโบราณสถาน ด้านผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เร่งเจรจา ยันสถานีควรอยู่ในเมืองเพื่อเชื่อมเดินทางสะดวก ขณะที่บอร์ด ร.ฟ.ท.ไฟเขียวร่างสัญญา 2.3 เร่งชงอัยการและ ครม. และต่อสัญญาทางคู่ “หัวหิน-ประจวบฯ” อีก 10 เดือน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. วันที่ 18 มิ.ย. ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อส่งต่ออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถลงนามได้ในเดือน ต.ค. 2563 ตามแผน
ส่วนการก่อสร้างงานโยธานั้น ที่ประมูลเสร็จแล้ว 7 สัญญายังไม่สามารถลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้เนื่องจากต้องแก้ไขเพิ่มเติมรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) จากที่มีการปรับแบบ เช่น สถานีอยุธยา ซึ่งมีประเด็นของการออกแบบที่กรมศิลปากรเห็นว่าการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงในตำแหน่งเดิมอาจจะมีผลกระทบต่อโบราณสถาน ซึ่งได้มีแนวคิดในการย้ายจุดสถานีออกไปนอกเมืองห่างออกไปประมาณ 7 กม. โดยยังก่อสร้างอยู่ในแนวเขตทางรถไฟ จึงไม่ต้องมีการเวนคืน ซึ่งจะต้องมีการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง
“รถไฟความเร็วสูง ตัวสถานีควรอยู่ในเมือง เพื่อเชื่อมการเดินทางจากเมืองสู่เมือง หากต้องย้ายไปอยู่นอกเมืองต้องประเมินข้อมูลให้รอบคอบ”
ทั้งนี้ พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างงานโยธาเมื่อปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2566 (ดำเนินการ 5 ปี)
@ขยายสัญญาก่อสร้าง รถไฟทางคู่ “หัวหิน-ประจวบฯ” 10 เดือน
นอกจากนี้ บอร์ด ร.ฟ.ท.ยังได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมี บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้างออกไปอีก 11 เดือน ตามที่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้พิจารณานำเสนอ เนื่องจากติดปัญหาการรื้อรางช่วงทางเลี่ยงสถานีบางส่วนของเส้นทางมีความล่าช้า ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ไม่สามารถให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการได้ตามเวลาที่กำหนดเพราะส่งผลกระทบต่อตารางการเดินรถที่จะล่าช้ามากขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายเวลาในการเข้าพื้นที่ก่อสร้าง โดยการขยายระยะเวลาก่อสร้างให้ผู้รับจ้างนี้ไม่ส่งผลทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่ล่าช้าอาจจะกระทบต่อกำหนดแผนงานเปิดเดินรถ ซึ่งจะพยายามเร่งรัดให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 5,807,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน