xs
xsm
sm
md
lg

ต่อเวลาเจรจาซื้อระบบไฮสปีด “ไทย-จีน” ถึง ต.ค. 63 - สายสีแดงล่าช้าปรับแผนเลื่อนเปิดเดินรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะขยายเวลาเจรจาซื้อระบบไฮสปีดสัญญา 2.3 “ไทย-จีน” ถึง 31 ต.ค. 63 เหตุ “โควิด-19” ระบาด พร้อมอนุมัติผลประมูลโยธาอีก 2 สัญญา และให้เร่งหารือ สผ.เคลียร์ EIA ขอทยอยเซ็นจ้างรับเหมา ขณะที่ตีกลับ ขยายสัญญา 3 สายสีแดง ปรับแผนเลื่อนเปิดเดินรถ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.วันที่ 16 เม.ย. ว่าที่ประชุมได้พิจารณาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาในการดำเนินการจัดทำร่างสัญญาจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทำสัญญาจ้างงาน ระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในวันที่30 พ.ค.63 โดยขยายออกไปอีก 155 วัน หรือจนถึง วันที่ 31 ต.ค. 2563 ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 ได้ โดยให้ ร.ฟ.ท.เสนอต่อกระทรวงคมนาคม และนายกรัฐมนตรี ต่อไป

นอกจากนี้ บอร์ดยังอนุมัติผลการประมูลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อจ้างก่อสร้าง งานโยธา รถไฟไทย-จีน จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 3-3 งานโยธา สำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. (ราคากลาง 12,043 ล้านบาท) ซึ่งบริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด ที่ 9,838 ล้านบาท และสัญญาที่ 4-5 งานโยธาสำหรับช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. (ราคากลาง 11,801 ล้านบาท) ซึ่ง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ) หรือ ITD เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท

ส่วนสัญญาที่3-5 งานโยธา สำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.69 กม. (ราคากลาง 9,257 ล้านบาท) ซึ่งกิจการร่วมค้าบริษัท SPTK จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 7,750 ล้านบาทนั้นยังไม่อนุมัติ โดยให้ไปสอบถามกรมบัญชีกลาง ในประเด็นกิจการร่วมค้าจดทะเบียนใหม่ เพื่อความชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะเสนอบอร์ดได้ในการประชุมครั้งหน้า พร้อมกันนี้ให้เร่งรัดในเรื่อง EIA เพื่อเร่งลงนามสัญญากับผู้รับจ้างต่อไป

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่ากา ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ภายในเดือนเม.ย.นี้ จะส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)เพิ่มเติม ช่วงบ้านภาชี-โคราช ต่อสผ. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังได้ทำหนังสือหารือ สผ. เพื่อขอให้ ร.ฟ.ท.สามารถลงนาม สัญญากับผู้รับจ้างในช่วงที่ไม่มีปัญหา EIA เป็นช่วงๆ ได้ก่อนหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากงานก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แบ่งเป็น 14 สัญญานั้น ขณะนี้กำลังก่อสร้างเพียง 2 สัญญา อีก 7 สัญญา ประมูลและบอร์ดอนุมัติแล้ว แต่ยังลงนามไม่ได้ เพราะต้องรออนุมัติ EIA ขณะที่มีบางสัญญา ครบกำหนดการยืนราคา ซึ่งได้เจรจากับผู้รับจ้างขยายออกไปถึงเดือน ส.ค.-ก.ย.”

“EIA ไม่ได้ติดทั้งเส้นทาง ติดเพียงบางช่วงเท่านั้น ดังนั้น ร.ฟ.ท.จึงหารือ สผ.ไปว่า หากสัญญาช่วงที่ไม่ติดเรื่อง EIA จะขอเซ็นกับผู้รับจ้างก่อนได้หรือไม่ เพื่อทยอยก่อสร้าง”

ตีกลับขยายสัญญา 3 สายสีแดง - ขยับเปิดเดินรถไม่เกินปลายปี 64

ส่วนการขยายระยะเวลาก่อสร้างงานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้า โครงการ ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันนั้น บอร์ดเห็นว่า ข้อมูลที่ใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณาไม่เพียงพอ จึงให้กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้งานระบบสายสีแดงล่าช้า เป็นผลมาจากความล่าช้าของสัญญาที่ 1 (งานโยธา สำหรับสถานีกลางบางซื่อ) จากการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ท่อน้ำมัน ท่อประปา ส่งผลให้สัญญา 3 เข้าพื้นที่ไม่ได้ตามสัญญา ซึ่งต้องไปทำรายละเอียดอธิบายให้บอร์ดเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขยายเวลาสัญญา 3 ทำให้ต้องปรับแผนการเปิดเดินรถไฟสายสีแดงจากเดิมเดือน ม.ค. 64 ออกไป เป็นช่วงกลางปี หรืออย่างช้าปลายปี 64


กำลังโหลดความคิดเห็น