“คมนาคม” ขีดเส้น ม.ค. 64 ส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีเปิดไซต์งานก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน วางไทม์ไลน์ ทยอยจ่ายค่าทดแทนเวนคืน 931 แปลง และรื้อย้ายบุกรุกกว่า 1 พันหลัง พร้อมเคาะเวนคืนเพิ่ม 5 จุด ขยายเขตทางรถไฟจาก 25 เมตร เป็น 40 เมตร ช่วงทางเข้าสุวรรณภูมิ, อู่ตะเภา, แม่น้ำบางปะกง, อุโมงค์เขาชีจรรย์
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกล คณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ครั้งที่ 3/2563 (ครั้งที่ 5) วันที่ 8 เม.ย. ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการเวนคืนที่ดินและย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่โครงการ โดยได้ข้อสรุปตรงกันว่า หากไม่มีข้อติดขัดใดๆ ในเดือน ม.ค. 2564 จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนของ พื้นที่เวนคืนและบุกรุกให้แก่คู่สัญญา คือ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รายงานแผนงานและความก้าวหน้าการดำเนินงาน โดยกำหนดตารางการทำงานในส่วนของการเวนคืนที่ดินจำนวน 931 แปลงว่า เดือน เม.ย. 2563 จะทำการสำรวจข้อมูล ปักหลักเขตเวนคืน และประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ถูกเวนคืน, เดือน พ.ค. 2563 จะทำการสำรวจรายละเอียดที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ พืชผล, เดือน ก.ย. 2563 สรุปรายละเอียดและค่าทดแทนทั้งหมด, เดือน ต.ค. 2563 ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ผู้ถูกเวนคืนและเริ่มทยอยจ่ายค่าทดแทน
สำหรับพื้นที่บุกรุกมีจำนวน 1,352 หลัง โดยเป็นผู้บุกรุกที่กีดขวางโครงการจำนวน 498 หลังที่ต้องรื้อย้ายออกโดยด่วน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มที่รับค่าเยียวยาแล้วพร้อมรื้อย้ายทันที 342 หลัง และกลุ่มที่พร้อมรับค่าเยียวยาแต่ขอเวลาในการรื้อย้ายออกจำนวน 156 หลัง ซึ่งได้มอบให้ ร.ฟ.ท.เจรจาให้เร่งออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด
“ในหลักปฏิบัติ เมื่อตรวจสอบรายละเอียดที่ดิน ตกลงค่าทดแทนและจ่ายเงินให้ผู้ถูกเวนคืน จะทยอยส่งมอบที่ดินให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 เพื่อให้ส่งมอบหมดในเดือน ม.ค. 2564 ตามแผน แม้ว่าตามกรอบเวลาจะสามารถส่งมอบพื้นที่เวนคืนและบุกรุกได้ถึง ต.ค. 2564”
ส่วนการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ การประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รายงานว่า ได้งบกลางปี 2563 ดำเนินการ อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการก่อสร้างสาธารณูปโภคทดแทนนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ใช้งบประมาณปี 2564 ดำเนินการ วงเงินรวม 1,002 ล้านบาท โดย กปน. วงเงิน 41 ล้านบาท กปภ. วงเงิน 112 ล้านบาท กฟภ. วงเงิน 523 ล้านบาท กฟน. วงเงิน 29 ล้านบาท และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 297 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเพื่อขยายเขตทางเพิ่มเติมจากที่มี 25 เมตร หลังจากทางซีพีได้มีการออกแบบก่อสร้าง ซึ่งพบว่าพื้นที่เขตทางรถไฟที่มีบางจุดไม่เพียงพอต่อรัศมีโค้งและการปรับแนว แต่ยังเป็นไปตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) และสำหรับวางเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการทำงาน และประชาชนในขณะก่อสร้าง รวมทั้งเพื่อเป็นเส้นทางสำหรับใช้ในการบำรุงรักษาในอนาคต และอพยพและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้เป็นเส้นทางสาธารณะแก่ประชาชนใช้โดยสารทางถนนโดยรอบตลอดเส้นทาง
โดยมีทั้งหมด 5 จุด ได้แก่ 1. ช่วงสถานีลาดกระบัง จุดเริ่มต้น ขยายความกว้างเขตทางจาก 25 เมตร เป็น 35 เมตร ยาว 180 เมตร เพื่อรองรับรัศมีโค้งเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ 2. บริเวณแนวโค้ง ตำแหน่ง 63+777 จุดเบี่ยงหลบประตูน้ำกรมชลประทาน ขยายความกว้างจาก 25 เมตรเป็น 32 เมตร ยาว 140 เมตร 3. ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ขยายความกว้างจาก 25 เมตรเป็น 40 เมตร ยาว 1.48 กม. สำหรับวางเครื่องจักรขนาดใหญ่ และชิ้นส่วนสำเร็จรูป 4. ช่วงอุโมงค์เขาชีจรรย์ ขยายจาก 25 เมตรเป็น 50 เมตร ยาว 440 เมตร สำหรับใช้วางเครื่องจักรเจาะอุโมงค์ 5. ช่วงทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา ขยายจาก 2 5 เมตรเป็น 40 เมตร ยาว 4.1 กม. รองรับทางโค้ง และถนนเชื่อม และเส้นทางสำหรับเข้าพื้นที่ซ่อมบำรุง
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ต้องเวนคืนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นที่ดินเกษตรกรรม ซึ่งที่ปรึกษา ร.ฟ.ท.ได้ตรวจสอบข้อเสนอของเอกชนแล้ว ซึ่งหากมีพื้นที่ส่วนใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีกครั้ง
สำหรับการส่งมอบพื้นที่มี 3 ช่วง คือ 1. ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ หรือระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ระยะทาง 28 กม. ส่งมอบได้ทันที เมื่อซีพีชำระค่าใช้สิทธิ์ 10,671 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันลงนาม 2. ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. มีระยะภายใน 1 ปี 3 เดือน หรือขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปี หลังลงนามสัญญา 3. ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 22 กม. มีระยะเวลาส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนามสัญญา