xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ยึดมติ คนร.ตั้งบริษัทลูกสายสีแดง เร่งชี้แจงคมนาคมยันเดินรถเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ร.ฟ.ท.ยึดมติ คนร.บริหารสายสีแดง โดยอัปเกรด บ.แอร์พอร์ตลิงก์ ชี้มีผลศึกษาครบถ้วน หาก ครม.เห็นชอบจัดตั้งได้ทันที เร่งชี้แจงคมนาคมต้น ม.ค. 63 พิสูจน์ผลประกอบการ 5 ปี ส่วน PPP เป็นแนวคิดแต่ยังไม่มีการศึกษารายละเอียด

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเดินรถสายสีแดงว่า จากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการบริหารการเดินรถไฟสายสีแดง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริหารเอง กับการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) เพื่อให้การบริหารโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งอยู่ระหว่างรอให้ร.ฟ.ท.ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา จากนั้นจะเร่งสรุปเพื่อรายงานต่อ รมว.คมนาคมในเดือน ม.ค. 2563

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคม โดยยังยืนยันรูปแบบการจัดตั้งบริษัทเดินรถสายสีแดงด้วยการเพิ่มพันธกิจให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ที่ปัจจุบันการบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ได้มีการศึกษารายละเอียดไว้แล้ว และหากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจะสามารถดำเนินการได้ทันที

“ภายในต้นเดือน ม.ค. 63 จะส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ทางกระทรวงคมนาคมได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งแผนการเกลี่ยอัตราพนักงาน การโอนย้าย ขณะนี้ทางแอร์พอร์ตลิงก์ได้มีการทยอยส่งพนักงานไปอบรมเพื่อดำเนินการบริหารรถไฟสายสีแดงแล้ว ส่วนรูปแบบ PPP เป็นแนวคิดหนึ่งที่กระทรวงนำมาพิจารณาปรียบเทียบ และยังไม่ได้มีการศึกษารายละเอียด”

สำหรับความคืบหน้าการโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ ให้แก่บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ตามเงื่อนไขโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น นายวรวุฒิกล่าวว่า กลุ่มซีพีจะต้องรับมอบโครงการหลังลงนามสัญญาภายใน 2 ปี พร้อมกับชำระเงินจำนวน 10,671,090,000 บาทให้ครบ ซึ่งขณะนี้ทางซีพียังไม่ได้ส่งแผนทำดิวดิลิเจนซ์ (due diligence)

ส่วนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น ขณะนี้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ออกมาแล้ว คาดว่าภายในเดือน ม.ค. 2563 ฝ่ายออกแบบจะเริ่มหารือกัน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 คนร.มีมติเห็นชอบการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดง โดยการเพิ่มพันธกิจให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรของ รฟฟท.ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยให้ปรับปรุงแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และทำกำไร

บริษัทลูกสายสีแดงจะบริหารแบบ Net Cost รับความเสี่ยงในการบริหารโครงการเอง โดยเงินทุนบริษัทใน 5 ปี วงเงิน 3,300 ล้านบาท ปีแรก (2564 ) จะจัดสรรให้ 989 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าจัดหาอะไหล่เริ่มต้นประมาณ 680 ล้านบาท และสำหรับชดเชยการขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาท เนื่องจากประเมินปีแรกจะมีผู้โดยสารประมาณ 5 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น