xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟไทย-จีน บรรลุข้อตกลง สัญญา 2.3 เร่งลงนามซื้อระบบ 5.06 หมื่นล้านใน ส.ค.-ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม”ประชุม “รถไฟไทย-จีน”บรรลุข้อตกลงสัญญา 2.3 เงื่อนไขซื้อระบบรถไฟความเร็วสูงจีน วงเงิน 5.06 หมื่นล. เร่งชง ครม.เชิญ”นายกฯ”ประธานนัดเซ็นสัญญา ใน ส.ค.-ก.ย. ยันจ่ายเป็นดอลลาร์ 80% หรือ 4.05 หมื่นล.ยึดเลท 30.8 บาทต่อ 1 เหรียญทยอยจ่ายเป็นงวด 63-68 ส่วนเฟส 2 เชื่อมหนองคาย คาดเสร็จปี 68

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยประชุม คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 ผ่านระบบ Video Conference กับ นายนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน วันนี้ (25 พ.ค.) ว่า ผลการเจรจา ทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติ ร่วมกัน ในส่วนของร่างสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท

โดยทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในของแต่ละฝ่ายเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญา 2.3 ได้โดยเร็ว โดยหลังจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่งร่างสัญญา ต่ออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา คาดว่าจะสรุปร่างสัญญาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินและเงื่อนไข คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยจะลงนามในสัญญานี้ได้ภายในเดือนต.ค. 2563 หรือเร่งรัดให้เร็วที่สุด อาจจะภายในเดือนส.ค. –ก.ย. นี้ โดยจะเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนาม ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อให้สามารถเริ่มงานภายในปี 2563 เนื่องจากโครงการล่าช้ามานานจากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ข้อสรุปเงื่อนไขสัญญา 2.3 ในเรื่องสกุลเงิน วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท โดยชำระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์ 80% จำนวน1,313,895,273 ดอลล่าร์ (40,506.8 ล้านบาท) เป็นสกุลบาท 20% หรือ 10,126.5 ล้านบาท
โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดในช่วงวันที่ 25 เม.ย. 2562- วันที่ 30 พ.ย. 2562 ที่อัตรา 30.82955 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัวในขณะนี้เนื่องจากการชำระเงินก็เรื่องระบบสัญญา 2.3 นั้นจะชำระเป็นงวดๆ ซึ่งมีการดำเนินโครงการ 5 ปี (2563-2568) ซึ่งขณะนี้ มีเรื่องโรคไวรัส โควิด-19 แต่หากสามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดได้ จะทำให้ค่าเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งในการประชุม ได้กำหนดงวดงานและชำระค่างาน จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

“ก่อนหน้านี้ สัญญา 2.3 กำหนดมูลค่าไว้ที่ 53,633 บ้านบาท แต่ไทย-จีน ได้มีการเจรจาร่วมกันและได้ปรับละ ค่าระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ค่าตัวรถไฟฟ้า และค่าฝึกอบรมพนักงาน ทำให้สามารถปรับลดวงเงินลงได้กว่า 3 ,000 ล้านบาท”

ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 29 ฝ่ายไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาไม่เกินเดือนตุลาคม 2563

สำหรับโครงการ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย) ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างงานโยธาเมื่อปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2566 (ดำเนินการ 5 ปี)

ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 211,757 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปี 2563 -2568 (ระยะเวลา 5ปี) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้การเชื่อมต่อขนส่งทางราง จากกทม.-หนองคาย และเชื่อมไปยัง สปป.ลาวและประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกัน หลายร้อยล้านคน มีความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ด้วยค่าบริการที่ต่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น