พีทีที โกลบอล เคมิคอลเบรกชี้ขาดลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่สหรัฐฯ โครงการใน EEC และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ใหม่หมดเป็นปี 2564 หลังพิษโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง หั่นค่าใช้จ่ายปีนี้ลง 1 พันล้านบาท เตรียมเสนอผู้ถือหุ้นอนุมัติเงินกู้อีก 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTGC) เปิดเผยแผนการลงทุนในปี 2563 ว่า บริษัทฯ พิจารณาทบทวนการลงทุนโครงการใหม่หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาเดิม โดยจะเลื่อนการลงทุนโครงการใหม่ออกไปก่อน อาทิ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่สหรัฐฯ มูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเลื่อนการตัดสินใจลงทุนจากไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นปี 2564
รวมทั้งชะลอการลงทุนการเข้าซื้อกิจการโครงการใหม่ (M&A) และการลงทุนโครงการใหม่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 1 แสนล้านบาท และอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนโครงการใหม่เพิ่มเติมอีกแสนล้านบาท ซึ่งจะมีความชัดเจนการลงทุนในปี 2563 รวมทั้งมีเป้าหมายปรับลดค่าใช้จ่ายปีนี้ลง 1,000 ล้านบาท
นายคงกระพันกล่าวต่อไปว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 คาดว่าภาพรวมธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีดีมานด์เริ่มฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทำให้ภาพรวมในปี 2563 บริษัทมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 7-10% จากปีก่อน เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่เหมือนปีที่แล้ว โดยธุรกิจปิโตรเคมีพบว่ามีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง (Single Use) เพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ไตรมาส 2/2563 การใช้กำลังการผลิตทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีของบริษัทฯ เดินเครื่องจักรเต็มที่ 100% โดยไตรมาส 2 นี้โรงกลั่นบริษัทฯ ไม่มีการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JET) แต่หันไปผลิตน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และแนฟทาเพิ่มขึ้นแทน
นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ เพื่อออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.28 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2563-2567) เพื่อรักษาระดับสภาพคล่อง จากปัจจุบันบริษัทฯ มีเงินสดในมือ 2.3 หมื่นล้านบาท และบริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วก่อนหน้านี้ 1.5 หมื่นล้านบาทเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเงินกู้จากสถาบันการเงินอีก 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษากระแสเงินสดในระดับ 7-8 หมื่นล้านบาท