“บางจาก” เผยโรงกลั่นปรับลดกำลังการผลิตลงในช่วง เม.ย.-พ.ค.เหลือ 8 หมื่นบาร์เรล/วัน ขณะที่ยอดขายน้ำมันเดือน เม.ย.หด 20% จากมาตรการล็อกดาวน์ และสำรองน้ำมันมีต้นทุนราคาเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ไตรมาส 2 นี้บริษัทมีตัวเลขขาดทุนสต๊อกน้ำมันอยู่
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยว่า โรงกลั่นน้ำมันบางจากได้มีการปรับลดกำลังการผลิตในช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2563 อยู่ในระดับ 8 หมื่นบาร์เรล/วัน ลดลงจากไตรมาส 1/2563 ที่มีกำลังการกลั่นระดับ 1 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อให้สอดรับความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งลดการผลิตน้ำมันอากาศยาน (เจ็ต)ลงตั้งแต่ เม.ย.-พ.ค.นี้ แล้วหันไปผลิตน้ำมันดีเซลแทน และเลื่อนการปิดซ่อมหน่วยกลั่นที่ 2 ให้เร็วขึ้นด้วย
สำหรับธุรกิจการตลาด พบว่ายอดขายน้ำมันในช่วง เม.ย.นี้ปรับลดลง 20% เมื่อเทียบจาก มี.ค. 63 ที่ปรับลดลง 6% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลด 30% จากมาตรการล็อกดาวน์จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่สต๊อกน้ำมันของบางจากฯปัจจุบันมีราคาเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ไตรมาส 2 คาดว่าจะบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมันอยู่
“แนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาส 2 นี้กับไตรมาส 1/63 มีลักษณะไม่หนีกันมาก โดยธุรกิจต้นน้ำ (ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ) และโรงกลั่นน้ำมันยังมีผลกระทบอยู่ เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีออกมาตรการล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย.ต่อเนื่องมาถึงเดือน พ.ค.นี้ และราคาน้ำมันดิบต่ำสุดในสิ้นเดือน เม.ย.อยู่ระดับ 10 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้มีการขาดทุนสต๊อกน้ำมันอยู่ แต่ธุรกิจที่ยังเป็นบวกอยู่คือธุรกิจการตลาด ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ แต่ธุรกิจไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้มีการปรับลดงบการลงทุนปีนี้ลง 9 พันล้านบาท โดยแบ่งการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง 2.4 พันล้านบาท และที่เหลือเป็นการชะลอการลงทุนลง อาทิ ปรับลดการขยายสถานีบริการน้ำมันในปีนี้ลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 60 แห่งเหลือเพียง 54 แห่ง รวมทั้งบริษัทมีการออกหุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 8 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะสั้นอีก 7 พันล้านบาท ทำให้บริษัทสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
นายชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า บางจากยังมีแผนที่จะขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท Nido Petroleum ซึ่งมีแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่ฟิลิปปินส์ ที่มีต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมต่อหน่วยในราคาที่สูงเมื่อเทียบจากราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันเฉลี่ย 30-35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จึงไม่คุ้มต้นทุนผลิต
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 4.66 พันล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 4.30 หมื่นล้านบาท และขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 3.43 พันล้านบาท และขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1.68 พันล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากทำให้บริษัทมีการบันทึกด้อยค่าธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติจำนวน 1.36 พันล้านบาท