“พาณิชย์” เดินหน้าตามนโยบายมติ กนศ.ที่มี “สมคิด” เป็นประธาน ชง ครม.พิจารณาไฟเขียวไทยเจรจาเข้าร่วมวง CPTPP เผยหาก ครม.เห็นชอบจะเคาะประตูเพื่อเข้าไปพูดคุย ยันมีสิทธิเจรจาต่อรอง ขอข้อยกเว้น และระยะเวลาปรับตัว สุดท้ายคุ้มไม่คุ้มชี้ขาดกันอีกที ย้ำประเด็นสิทธิบัตรยาไม่มีแล้ว ยังใช้ CL ได้เหมือนเดิม ส่วนพันธุ์พืชใหม่ เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่าขั้นต่ำและระยะเวลาปรับตัว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอผลการศึกษาและผลการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย เสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามมติที่ประชุมคณะคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเดือนก.พ. 2563 ที่ผ่านมาแล้ว และต้องติดตามว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 28 เม.ย. 2563 หรือไม่ เพราะต้องรอบรรจุวาระเข้า ครม.ตามกระบวนการ
“การเสนอ ครม.เป็นเพียงการขอพิจารณาให้ไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP เป็นการเคาะประตูไปเจรจากับสมาชิก CPTPP ซึ่งเป็นเพียงก๊อกแรก หรือขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น หาก ครม.เห็นชอบก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน คือ ไทยจะต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะเจรจา ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และในระหว่างการเจรจาจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุดการตัดสินใจว่าไทยจะยอมรับผลการเจรจา และเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อน” นางอรมนกล่าว
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีผู้กังวล อย่างเรื่องการเข้าถึงยา ความตกลง CPTPP ได้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจา จึงไม่มีข้อบทนี้ และสมาชิก CPTPP ไม่มีข้อผูกพันเรื่องนี้ และความตกลง ข้อ 18.41 และ 18.6 กำหนดให้สมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า (public noncommercial use) อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL เพราะข้อบทการลงทุนข้อที่ 9.8 เรื่องการเวนคืน (expropriation) ย่อหน้าที่ 5 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะไม่นำมาใช้กับมาตรการ CL รวมทั้งมีข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทข้อ 28.3.1 (C) ไม่ได้รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทในขอบเขตการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก CPTPP
ส่วนเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิก CPTPP สามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
ขณะที่ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงฯ เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขัน ทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนามขอเวลาปรับตัวถึง 25 ปี
“ยืนยันว่าทุกประเด็นที่เป็นข้อกังวล ทั้งจากเกษตรกร ภาคประชาสังคม เราฟังทุกเสียง เราเอาไปใช้ในการเจรจา ประเด็นไหนรับได้ รับไม่ได้ก็ต้องไปเจรจาต่อรองเพื่อขอข้อยืดหยุ่น และข้อยกเว้นที่จะไม่รวมในเรื่องที่ไทยมีข้อกังวล หรือไม่พร้อมจะเปิดตลาด หรือไม่พร้อมจะปฏิบัติตามพันธกรณีไว้ในข้อผูกพันของไทย ดังเช่นที่ประเทศสมาชิก CPTPP มีการขอเวลาปรับตัว และขอข้อยกเว้นไว้” นางอรมนกล่าว