xs
xsm
sm
md
lg

ดันร่วมCPTPP “สมคิด”สั่ง พณ.สรุปข้อดี-เสีย ชงครม.ตัดสินเม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“สมคิด” สั่ง “พาณิชย์” สรุปข้อดี-ข้อเสียร่วมสมาชิก CPTPP จ่อชง ครม.พิจารณาเดือน เม.ย.นี้ เผยหากเห็นชอบตั้งทีมเจรจาทันที ยันเรื่องไหนมีผลกระทบ-อ่อนไหว ต่อรองแน่นอน พร้อมเร่งเดินหน้าเตรียมทำ FTA ไทย-อียู “กรมเจรจาฯ” โชว์ประโยชน์ร่วม CPTPP ดันจีดีพีลงทุน-ส่งออกเพิ่ม ช่วยเปิดตลาดแคนาดา-เม็กซิโก ย้ำสิทธิบัตรยาไม่มีในข้อตกลงแล้ว การคุ้มครองพันธุ์พืช จัดซื้อจัดจ้าง มีเงื่อนไขผ่อนปรน ห่วงไทยร่วมช้าเสียประโยชน์

วานนี้ (13 ก.พ.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 1/2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการศึกษาข้อดีและข้อเสียของการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ทำข้อสรุปว่าไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร และให้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจในช่วงเดือน เม.ย.63 หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาต่อไป

“ในที่ประชุม กนศ. ได้คุยกันชัดเจน อะไรที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน เราจะต้องต่อรองแน่นอน เพราะทุกประเทศต่อรองทั้งนั้น ต้องดูว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องอ่อนไหวของเรา เราก็จะตั้งทีมเพื่อเจรจา ซึ่งมาจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สมาชิก CPTPP ได้เตรียมจัดประชุมครั้งใหญ่ในเดือนส.ค.2563 ซึ่งเขาอยากให้ไทยตอบกลับให้ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่" นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้ ได้กำชับให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งพิจารณาความร่วมมือการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่อียูได้ทำ FTA กับเวียดนามไปแล้ว ซึ่งการที่ไทยยังไม่สามารถทำข้อตกลง FTA กับอียูได้ เพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อียูไม่เจรจากับไทย เพราะรัฐบาลยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เป็นแล้ว ก็ต้องเร่งการเจรจาโดยเร็ว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าร่วม CPTPP จะเกิดประโยชน์กับไทย โดยผลการศึกษา พบว่า จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนเพิ่ม 5.14% มูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออก เพิ่ม 3.47% มูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท แต่ถ้าไม่เข้าร่วม จะทำให้จีดีพีลดลง 0.25% มูลค่า 26,629 ล้านบาท และยังจะช่วยในเรื่องการเปิดตลาด เพราะสมาชิกมีการลดภาษีเป็น 0% ตั้งแต่ 95-99% และยังจะมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแคนาดา และเม็กซิโก ที่ไทยไม่มี FTA ด้วย

ส่วนข้อกังวลเรื่องสิทธิบัตร จะไม่สามารถบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (CL) ได้นั้น ในความตกลง CPTPP ไม่ได้มีเรื่องนี้แล้ว ถูกถอนออกไปตั้งแต่สหรัฐฯ ออกจากการเจรจา, เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช ก็มีเงื่อนไขผ่อนปรนให้และมีข้อยกเว้นไม่ต้องทำตามข้อตกลง, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มีการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำ ถ้าต่ำกว่าไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และมีระยะเวลาปรับตัว และเรื่องการปรับตัว จะมีการตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ตามเป้าหมาย จะเสนอให้ ครม. พิจารณาภายในเดือนเม.ย.2563 หากเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วม ก็จะได้มีเวลาเตรียมตัว เพราะสมาชิก CPTPP ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม จะนัดประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกเดือน ส.ค.2563 ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่จะคุยกัน ก็เป็นเรื่องของการรับสมาชิกใหม่ ไทยก็จะยื่นสมัครได้ทัน และถ้ารับไทยเป็นสมาชิก ก็จะเป็นเรื่องของการเจรจา โดยมีหลัก คือ ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ยิ่งถ้าเข้าเร็ว ก็จะจ่ายค่าผ่านประตูน้อย ถ้ารอให้มีสมาชิกให้สัตยาบันเพิ่มขึ้น หรือมีสมาชิกรายใหม่ๆ เพิ่ม ตอนนั้น อาจต้องเสียค่าผ่านประตูมากกว่า”นางอรมนกล่าว

สำหรับการเตรียมการเรื่องการทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาขั้นสุดท้าย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ก.พ. หรือต้น มี.ค.2563 จากนั้นจะนำเสนอผลการศึกษา ผลดี ผลเสีย ข้อกังวล ข้อเสนอแนะให้ กนศ.พิจารณา ถ้าเห็นควรทำ FTA ก็จะเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติทำ FTA กับอียูต่อไป คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปประมาณช่วงกลางปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น