กนศ.รับทราบผลการศึกษา ข้อดี ข้อเสีย การเข้าร่วม CPTPP มอบ “พาณิชย์”สรุปเสนอ ครม. พิจารณาตัดสินใจเม.ย.นี้ เผยผลศึกษาช่วยเพิ่มจีดีพี การลงทุน และการส่งออก ช่วยเปิดตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ย้ำเรื่องสิทธิบัตรยา ไม่อยู่ในข้อตกลงแล้ว การคุ้มครองพันธุ์พืชมีเงื่อนไขผ่อนปรน รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ชี้หากไทยเข้าร่วมช้า ค่าผ่านประตูอาจแพงขึ้น ส่วน FTA ไทย-อียู รอเข้า กนศ.ไม่เกินกลางปีนี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบผลการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ผลการลงพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ผลดี ข้อเสีย ผลประโยชน์ รวมถึงข้อกังวล และมีมติให้กระทรวงพาณิชย์สรุปผลทั้งหมดเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจภายในเดือนเม.ย.2563 นี้
ทั้งนี้ กรมฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาการเข้าร่วม CPTPP ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้น 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนเพิ่ม 5.14% มูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออก เพิ่ม 3.47% มูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท แต่ถ้าไม่เข้าร่วม จะทำให้จีดีพีลดลง 0.25% มูลค่า 26,629 ล้านบาท และยังจะช่วยในเรื่องการเปิดตลาด เพราะสมาชิกมีการลดภาษีเป็น 0% ตั้งแต่ 95-99% และยังจะมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแคนาดา และเม็กซิโก ที่ไทยไม่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย
ส่วนข้อกังวลเรื่องสิทธิบัตร จะไม่สามารถบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (CL) ได้นั้น ในความตกลง CPTPP ไม่ได้มีเรื่องนี้แล้ว ถูกถอนออกไปตั้งแต่สหรัฐฯ ออกจากการเจรจา , เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช ก็มีเงื่อนไขผ่อนปรนให้และมีข้อยกเว้นไม่ต้องทำตามข้อตกลง , การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มีการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำ ถ้าต่ำกว่าไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และมีระยะเวลาปรับตัว และเรื่องการปรับตัว จะมีการตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“หาก ครม. เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมในเดือนเม.ย.2563 ก็จะได้มีเวลาเตรียมตัว เพราะสมาชิก CPTPP ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลียและเวียดนาม จะนัดประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกเดือนส.ค.2563 ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่จะคุยกัน ก็เป็นเรื่องของการรับสมาชิกใหม่ ไทยก็จะยื่นสมัครได้ทัน และถ้ารับไทยเป็นสมาชิก ก็จะเป็นเรื่องของการเจรจา โดยมีหลัก คือ ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ยิ่งถ้าเข้าเร็ว ก็จะจ่ายค่าผ่านประตูน้อย ถ้ารอให้มีสมาชิกให้สัตยาบันเพิ่มขึ้น หรือมีสมาชิกรายใหม่ๆ เพิ่ม ตอนนั้น อาจต้องเสียค่าผ่านประตูมากกว่า”นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการเตรียมการเรื่องการทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาขั้นสุดท้าย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนก.พ. หรือต้นมี.ค.2563 จากนั้นจะนำเสนอผลการศึกษา ผลดี ผลเสีย ข้อกังวล ข้อเสนอแนะ ให้ กนศ. พิจารณา ถ้าเห็นควรทำ FTA ก็จะเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติทำ FTA กับอียูต่อไป คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปประมาณช่วงกลางปีนี้