“พาณิชย์” เคลียร์ปมข้อสงสัยของเอ็นจีโอ ยันขยายเวลาสิทธิบัตรยาถูกถอดออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัว ยังสามารถใช้ CL ได้เหมือนเดิม เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐมีการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำ รายเล็กไม่กระทบ เผยในช่วงชง ครม.พิจารณาข้อดี ข้อเสีย การเข้าร่วม CPTPP จะเสนอให้ตั้งทีมเจรจาที่มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมด้วย ย้ำสุดท้ายถ้าเจรจาแล้วไทยไม่พอใจยังมีสิทธิ์ถอนตัวจากการเข้าร่วมได้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคมที่มีต่อการที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จะทำให้ไทยต้องรับเงื่อนไข หรือข้อผูกพันที่จะกระทบต่อประชาชนว่า เรื่องการเปิดตลาด มีข้อยกเว้นให้สมาชิกปรับตัวนานสุดถึง 21 ปีสำหรับกลุ่มสินค้าที่จะลดภาษีเป็น 0% และมีสินค้าบางกลุ่มสงวนไว้ไม่ต้องลดภาษีได้ เรื่องขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาถูกถอดออกตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก และในเรื่องการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (CL) ยังสามารถทำได้ การเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ 1991 (ยูพอฟ 1991) ไม่ต้องกังวล เพราะยูพอฟ 1991 ได้ให้ทางเลือกสมาชิกสามารถออกกฎหมายเพื่อยกเว้นให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่ของตนได้ และเรื่องการจัดจ้างโดยรัฐ ได้กำหนดให้กำหนดมูลค่าขั้นต่ำที่ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และมีระยะเวลาในการปรับตัว
ทั้งนี้ ล่าสุดกรมฯ อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งข้อดี ข้อเสียของการเข้าร่วม รวมถึงผลการศึกษา และผลการลงพื้นที่รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน เม.ย. 2563 และจะเสนอให้มีการตั้งทีมเจรจา ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเจรจาต่อรอง กำหนดเงื่อนไข ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และระยะเวลาปรับตัว เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนและให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด
“ถ้า ครม.เห็นชอบ กระทรวงการต่างประเทศจะทำหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าร่วมส่งไปให้ประเทศนิวซีแลนด์ ที่เป็นประเทศที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รักษาความตกลง เพื่อเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีสมาชิก CPTPP ในเดือน ส.ค.นี้พิจารณาต่อไป ตอนนี้เป็นเพียงการเคาะประตูเข้าบ้าน จากนั้นจึงจะถึงขั้นตอนการเจรจา ซึ่งการเจรจาจะมีทีมเจรจาที่จะเข้าไปต่อรองเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด โดยจะรับฟังข้อกังวลของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถ้าเจรจาแล้วเห็นว่าไทยรับข้อตกลงไม่ได้ หรือเห็นว่าจะมีผลกระทบมากกว่าได้ ก็อาจไม่เข้าร่วมก็ได้ โดยทีมเจรจาจะต้องนำผลการเจรจามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนให้สัตยาบัน ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะเข้าร่วมแล้วจะต้องปฏิบัติตามความตกลงทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของทีมเจรจา” นางอรมนกล่าว
สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยายตัว 0.12% มูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% มูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออกขยายตัว 3.47% มูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท รวมทั้งไทยจะส่งออกสินค้าหลายรายการได้เพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิกต้องเปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติม เช่น ไก่แปรรูป น้ำตาล ข้าว อาหารทะเล ผลไม้สด แห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าหากไทยไม่เข้าร่วมจะเกิดค่าเสียโอกาสจากการเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและของโลก โดยจีดีพีจะลดลง 0.25% มูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนลดลง 0.49% มูลค่า 14,270 ล้านบาท การส่งออกลดลง 0.19% มูลค่า 14,560 ล้านบาท และผลตอบแทนแรงงานลดลง 8,440 ล้านบาท