xs
xsm
sm
md
lg

ค้านรัฐบาล“บิ๊กตู่”พาไทยเข้าร่วม CPTPP หวั่น “เกษตรกร”เป็นทาสบริษัทเมล็ดพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไบโอไทย” เดินหน้าค้าน ไทยเข้าร่วมข้อตกลง CCTPP ชี้ เป็นการเปิดประตูให้ บ.เกษตรยักษ์ใหญ่ เข้ายึดเมล็ดพันธุ์ เหตุ “เกษตรกร” ไม่มีสิทธินำไปขยายพันธุ์ต่อ ดันราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 6 เท่า คุ้มครองครอบจักรวาลถึงผลิตภัณฑ์จากพืชที่ถูกพัฒนา หวั่น กระทบการผลิต-พัฒนายาสมุนไพร อีกทั้งมีช่องให้ต่างชาติลักลอบนำจุลินทรีย์ของไทยไปใช้ประโยชน์

มติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ที่จะนำไทยเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค” หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) กำลังสร้างความวิตกว่าจะเป็นการเปิดประตูให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามา “ผูกขาด” เมล็ดพันธุ์และสมุนไพรไทย โดยอาศัยข้อตกลงเสรีทางการค้าซึ่งซ่อนกติกาที่เอารัดเอาเปรียบไว้มากมายหรือไม่ ?

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)
ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะทำงานของ กนศ. อีกครั้งก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาตัดสินใจ ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบ รัฐบาลจะมีการตั้งคณะทำงานเจรจาด้านต่างๆเพื่อทำหน้าที่เจรจากับสมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ชาติเพื่อให้ทันการประชุม CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563 ที่จะถึงนี้ โดยการพิจารณาเรื่องรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 12 จะเป็นวาระสำคัญในการประชุมดังกล่าว ขณะนี้จึงยังพอมีเวลาที่จะยับยั้งไม่ให้รัฐบาลนำพาประเทศไทยเข้าไปสู่กับดัก

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวปกป้องพันธุ์พืชของไทย ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP ดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆได้ซ่อนเงื่อนไขที่เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามายึดครองทรัยพากรพืชของไทยผ่านสัญญา 2 ฉบับ ซึ่งมีความพยายามจะดำเนินการมานานแล้ว นั่นคือ อนุสัญญายูปอพ 1991(UPOV 1991) ซึ่งมีผลต่อการผูกขาดพันธุ์พืช และ สนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ เนื่องจากหากไทยเข้าร่วมใน CPTPP ไทยต้องยอมรับข้อกำหนดในการเข้าร่วมในสัญญาทั้ง 2 ฉบับด้วย


สำหรับ “อนุสัญญายูปอพ 1991” เป็นอนุสัญญาที่ให้ความคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจริงๆแล้วก็คือบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์นั่นเอง แต่กลับไปลดทอนสิทธิของเกษตรกร ซึ่งเดิมมีสิทธิที่จะเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืชที่ซื้อหรือได้มาจากแหล่งใดๆ แต่ภายใต้ UPOV สิทธิเหล่านี้ถูกตัดออกไป โดยอนุสัญญายูปอพ 1991 มีข้อกำหนดในการคุ้มครองพันธุ์พืชที่พัฒนาขึ้นใหม่ ดังนี้

1.เกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวจะไม่สามารถเก็บพันธุ์ สารพันธุกรรม เมล็ดของพ่อ-แม่พันธุ์ ลำต้น หรือส่วนใดๆก็ตามเพื่อนำไปปลูกต่อ ทำให้เกษตรกรเป็นทาสบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ เพราะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่อยู่ตลอดเวลา

2.ห้ามกระทำใดๆเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์จากแปลงปลูก

3.ห้ามนำส่วนใดๆไปใช้เพื่อการปรับปรุงและวิจัย

4.รายละเอียดของพันธุ์พืชและผลิตภัณฑ์ที่ ยูปอพ 1991 ให้ความคุ้มครอง มีดังนี้

4.1) ให้การคุ้มครองพืชทุกชนิดที่ถูกพัฒนาขึ้น (ต่างจากอนุสัญญายูปอพ 1987 ที่ให้แต่ละประเทศให้การคุ้มครองพืชที่พัฒนาขึ้นใหม่ไม่เกิน 24 ชนิด)

4.2) ขยายระยะเวลาการคุ้มครองสำหรับพืช (จากที่เคยกำหนดในอนุสัญญายูบอพ 1987 ) จาก 15 ปี เป็น 20 ปี สำหรับพืชทั่วไป และขยายเป็น 25 ปี สำหรับพืชยืนต้น

4.3) ยูปอพ 1991 ขยายการผูกขาดไปถึงผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลจากพืชที่ถูกพัฒนาด้วย เช่น หากนำข้าวที่ได้จากการปลูกไปทำสาโท การผูกขาดก็จะขยายไปถึงสาโทด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากเพราะจะส่งผลถึงการนำพืชไปสกัดเป็นยาด้วยเช่นกัน (ขณะที่ยูปอพ 1978 ผูกขาดหรือคุ้มครองเฉพาะส่วนที่นำไปขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด กิ่งพันธุ์)

4.4) กรมวิชาการเกษตรได้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 เพื่อรองรับการเข้าร่วมอนุสัญญายูปอพ 1991 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ส่งผลให้เกษตรที่นำพันธุ์ที่พัฒนาไปปลูกต่อจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยมีโทษถึงขั้นจำคุก


นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า อนุสัญญายูปอพ 1991 จะส่งผลกระทบต่อวิถีเกษตรอย่างรุนแรง อย่างน้อย 5 ประการด้วยกัน คือ

1) ทำลายสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนสายพันธุ์พืช ซึ่งเป็นสิทธิตามวิถี
เกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย และเป็นสิทธิได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญของไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 66

2) เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเก็บพันธุ์ได้ โดยจากการศึกษาพบว่าหากไทยร่วมในอนุสัญญายูปอพ 1991 จะส่งผลให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าราคาเมล็ดพันธุ์ เพิ่มขึ้นถึง 2-6 เท่าตัว โดยมูลค่ารวมที่เป็นภาระของเกษตรจะเพิ่มขึ้นจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 80,000- 142,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

3) ส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงพันธุ์ของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย วิสาหกิจชุมชน และ เอื้ออำนวยให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ผูกขาดพันธุ์พืชมากยิ่งขึ้น

4) ทำลายกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่ง
เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นโดยยึดหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ การแก้กฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับ UPOV เป็นการทำลายประสิทธิภาพการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองของประเทศไทยอย่างร้ายแรง

5) ความตกลงนี้จึงจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรไทย ตัวอย่างเช่น หากมีการจดสิทธิบัตรกัญชาซึ่งปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นใหม่ ประเทศไทยก็ไม่สามารถนำกัญชานั้นไปผลิตเป็นยาได้ หรือกรณีการจดสิทธิบัตรยาระงับปวดจากกระท่อม ของบริษัทญี่ปุ่น ก็ส่งผลต่อการนำกระท่อมมาพัฒนาเป็นยาเช่นกัน

“อนุสัญญา UPOV 1991 ถูกขนานนามว่าเป็น อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ เนื่องจากเพิ่มอำนาจการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทเอกชน ลดทอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืช และลดทอนกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนายาจากสมุนไพรหรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศ จึงไม่เข้าใจว่ารัฐบาลไทยจะดิ้นรนเข้าไปอยู่ในกับดักนี้ทำไม” นายวิฑูรย์ กล่าว


ส่วน “สนธิสัญญาบูดาเปสต์” นั้น เป็นสนธิสัญญาที่เอื้ออำนวยให้คนที่มีขีดความสามารถในการวิจัยได้ใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรจุลชีพได้ง่ายขึ้น โดยได้สร้างระบบรับฝากระหว่างประเทศที่เรียกว่า "องค์กรรับฝาก (สารชีวภาพ) ระหว่างประเทศ" หรือ IDA ซึ่งหากประเทศใดต้องการจดสิทธิบัตรจุลชีพ สามารถนำตัวอย่างมาฝากองค์กรรับฝากใดก็ได้เพียงแห่งเดียวก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรในทุกประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 77 ประเทศ แต่ปัญหาคือ สนธิสัญญาดังกล่าวห้ามเปิดเผยแหล่งที่มา จึงไม่มีทางทราบว่าการจดสิทธิบัตรจุลชีพมีการลักลอบนำจุลลินทรีย์ของประเทศไทยไปพัฒนาหรือไม่

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า จุลินทรีย์หรือจุลชีพถือเป็นทรัพยากรชีวภาพของของประเทศ โดยไทยมีจุลินทรีย์ที่มีลักษณะเฉพาะอยู่ทั้งในดิน พืช น้ำ และในทะเล จุลินทรีย์ดังกล่าวถุกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและยารักษาโรคต่างๆ ซึ่งกฎหมายระบุว่าหากใครนำจุลทรีย์ตามธรรมชาติไปใช้จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดจุลินทรีย์นั้น แต่สนธิสัญญาบูดาเปสต์ระบุว่า ประเทศสมาชิกที่จดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ไม่ต้องแสดงแหล่งที่มาของจุลินทรีย์นั้น และไม่สามารถร้องขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของจุลินทรีย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการลักลอบนำจุลินทรีย์ของประเทศอื่นไปใช้โดยต้องไม่แบ่งปันผลประโยชน์

“ประเทศหนึ่งที่ต้องการสิทธิบัตรจุลชีพอย่างมากก็คือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นสมาชิกของ CPTPP และร่วมในสนธิสัญญาบูดาเปสต์อยู่แล้ว เพราะเขาได้ประโยชน์ตรงนี้ แต่หากไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมากเข้าร่วมในสนธิสัญญานี้เราก็จะไม่สามารถร้องขอให้ตรวจสอบว่าจุลินทรีย์ที่ประเทศต่างๆนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์นำไปจากประเทศไทยหรือไม่”

ผู้อำนวยการไบโอไบ ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันให้เกิด ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ CPTPP , อนุสัญญายูปอพ 1991 รวมถึงสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ก็คือบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพรายใหญ่ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา จึงไม่แปลกที่สหรัฐจะใช้อำนาจกดดันให้หลายประเทศเข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว

“ รัฐบาลมีความพยายามที่จะให้ไทยเข้าร่วมใน CPTPP ทั้งที่ทำให้ไทยเสียประโยชน์ ที่แปลกคือตอนนี้ ครม.ยังไม่มีมติ แต่มีการเจรจากับประเทศสมาชิก CPTPP แล้ว ซึ่งหากไทยจะเข้าร่วมฯ รัฐบาลก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา เนื่องจากเรื่องนี้เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการนำร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่เคยถูกเกษตรกรคัดค้าน เข้าพิจารณาไปพร้อมกัน ตอนนี้คนไทยจึงต้องช่วยกันคัดค้านก่อนที่เกษตรกรจะตกเป็นทาสของบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ” นายวิฑูรย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น