น่าน - นายกรัฐมนตรีเดินสายลงพื้นที่เมืองน่าน ติดตามปัญหาน้ำ-หมอกควันไฟป่า พร้อมชูโมเดล NAN Sandbox จัดสรรที่ดินทำกินและแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ ชมวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน ต่อยอดสมุนไพรไทยสร้างเศรษฐกิจชุมชน
วันนี้ (12 ก.พ.) หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดพะเยาแล้ว ได้เดินทางไปตรวจติดตามการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน
โดยได้มอบโฉนดที่ดินให้แก่เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ให้แก่เกษตรกรจำนวน 2 ราย พร้อมกับเป็นสักขีพยานในการรับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้โครงการ คทช.ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และเป็นสักขีพยานในโอกาสที่ รมว.กระทรวงทรัพย์ มอบเอกสารโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินป่าไม้ให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คทช.ให้แก่ผู้แทนชุมชนจำนวน 5 ราย ได้แก่ บ้านหาดเค็ด บ้านเมืองหลวง บ้านราษฎร์สามัคคี บ้านเมืองจังเหนือ และบ้านเมืองจังใหม่พัฒนา โดยมีนายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้บริหาร ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีรับชมการแสดงของนักเรียน 6 ชนเผ่า (ไทลื้อ เมี่ยน ม้ง ขมุ ถิ่น และก่อ) อ.สองแคว ที่ร่วมร้องเพลงประสานเสียง “เพลงธงชาติ” พร้อมกล่าวกับชาวบ้านที่มาร่วมต้อนรับว่า รู้สึกดีใจที่มีโอกาสมาพบปะพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดน่านอีกครั้ง หลังจากที่ได้เดินทางมาเมื่อเดือนธันวาคม 2559 วันนี้ได้นำคณะรัฐมนตรีมาตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า รัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งต้องมีงบประมาณที่รัฐบาลต้องทำอย่างรอบคอบเช่นเดียวกับรายจ่ายอื่นในงบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลมีโครงการที่เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยต้องใช้งบประมาณในปี 63 ที่กำลังจะออกมาจึงจะเดินหน้าไปได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวว่า คือการหาแนวทางการจัดการที่ดิน การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุก ด้วยการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าทำไมต้องมีการจัดพื้นที่ ให้รับทราบถึงผลกระทบว่าจะเกิดความเสียหายเช่นไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในวงกว้างจากปัญหาหมอกควันไฟป่า ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ในขณะนี้ แต่ต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมมือกัน ตั้งแต่ระดับชุมชนที่ต้องบริหารจัดการน้ำ ทั้งการขุดบ่อกักเก็บน้ำและขุดบ่อบาดาล หากประชาชนกลุ่มใดมีเครื่องมือก็ควรช่วยเหลือดำเนินการเพื่อให้รวดเร็ว ขณะที่ส่วนราชการในพื้นที่ต้องให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องการแจกจ่ายน้ำ การบริหารจัดการน้ำที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ใช้พื้นที่ที่มอบให้ในการทำกิน ทั้งพื้นที่ของการอยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ พื้นที่ป่าชุมชน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่านำไปขายต่อ ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ในขณะนี้
นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมการดำเนินงานในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พื้นที่จังหวัดน่าน (Nan SandBox) ในรูปแบบประชารัฐ โดยความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการจัดการที่ดินให้มีความสมดุล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ การอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติในพื้นที่ป่าของจังหวัด และการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องไฟป่า การเผาในที่โล่ง โดยทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาและหาวิธีการป้องกันที่จะมีผลในระยะยาว เช่น การปลูกป่า การสร้างความชุ่มชื้น และการสร้างแนวป้องกันไฟ เป็นต้น
เย็นวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางไปยังวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน บ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นชุมชนหมู่บ้านเกษตรนวัตวิถีที่ได้รับการพัฒนาและต่อยอดเรื่องสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง จนได้รับรางวัลในระดับประเทศและระดับโลก โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปส่งเสริมและพัฒนา ทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง โดยมีนายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน พร้อมด้วยสมาขิกกลุ่มและประชาชน มารอให้การต้อนรับ
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยนที่มีการบูรณาการ และใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรในท้องถิ่นและภูมิปัญญา มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพและความงาม นับเป็นตัวอย่างของการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพโดยชุมชนท้องถิ่น ที่ได้นำเอาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการนำกลไกของประชารัฐเข้ามาต่อยอดเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชนเดิม โดยใช้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและเป็นการกระจายความเสี่ยงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการต่อยอดโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป