xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ เร่งสรุปผลการศึกษาฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ชง กนศ.พิจารณากลางปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมสรุปผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบการฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู รวมถึงผลรับฟังความคิดเห็น ประเด็นที่คาดว่าอียูจะหยิบยกขึ้นเจรจา เสนอ “สมคิด” ประธาน กนศ.พิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม. คาดได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้ แนะผู้ผลิต-ผู้ส่งออกสู้เวียดนามหลังทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว เน้นคุมเข้มมาตรฐาน เพื่อให้สินค้ายึดตลาดอียูได้ต่อ และต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน ดึงดูดลงทุน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ดำเนินการ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 และจะเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวในเว็บไซต์ของกรมฯ หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษา และผลการลงพื้นที่รับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม ที่จัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศในปี 2562 เสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่อียูจะทราบผลการพิจารณาการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทยจากระดับนโยบายของอียู

ทั้งนี้ กรมฯ ยังจะเสนอประเด็นที่คาดว่าอียูจะหยิบยกขึ้นเจรจากับไทย โดยศึกษาจากเอฟทีเอที่อียูเจรจากับประเทศต่างๆ ทั้งที่ลงนามแล้วกับเวียดนาม สิงคโปร์ กลุ่มประเทศเมอร์โคซูร์ (บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย) และที่อียูอยู่ระหว่างเจรจากับอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น โดยเบื้องต้นพบว่าเอฟทีเอที่อียูเจรจากับคู่ค้าครอบคลุมหลายเรื่องทั้งการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน การกำหนดกฎระเบียบการค้าต่างๆ เช่น สุขอนามัยพืชและสัตว์ กฎระเบียบทางเทคนิคด้านการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การพัฒนาที่ยั่งยืน การระงับข้อพิพาททางการค้า และ SME เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียด เงื่อนไข ข้อผูกพัน และข้อยกเว้นที่ต่างกันไป

นางอรมนกล่าวว่า สำหรับกรณีที่รัฐสภายุโรปได้มีมติรับรองผลการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอียูกับเวียดนาม เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา และคาดว่าเอฟทีเอดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในปีนี้ ทำให้มีข้อกังวลว่าจะส่งผลให้เวียดนามได้เปรียบไทยในเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น รวมถึงการจ้างงาน และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ กรมฯ มีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่อียูยอมรับ เพราะผู้บริโภคอียูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งพัฒนาแรงงานมีฝีมือ และปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศในไทย

ปัจจุบัน อียูมีสมาชิก 27 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรรวมกันกว่า 447 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และเป็นนักลงทุนลำดับ 2 ของไทย รองจากญี่ปุ่น โดยอียูมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในปี 2562 อียู 27 ประเทศ มี GDP กว่า 15.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการค้ากับไทยรวมมูลค่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปอียู รวมมูลค่า 2.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ยาง และไก่แปรรูป และการนำเข้าจากอียู รวมมูลค่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น