ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับ ยกฟ้องคำฟ้องของกลุ่มเอ็นซีพี ที่ขอเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ที่ไม่รับซองที่ 2 ของเอ็นซีพี ชี้ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เหตุเอ็นซีพีไม่ลงนามในเอกสารที่กำหนด ถือเป็นสาระสำคัญ ทำให้เกิดความได้เปรียบผู้ยื่นรายอื่น
วันนี้ (13 มี.ค.) ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.403/2562 หมายเลขแดงที่ อ.141/2563 ระหว่าง บริษัท นทลิน จํากัด, บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จํากัด, บริษัท พริมา มารีน จํากัด (มหาชน) บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จํากัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1-4 ตามลำดับ และ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F, คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ตามลำดับ
จากกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคําสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อุทธรณ์คําพิพากษา)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาในคดีหมายเลขดําที่ 1986/2562 หมายเลขแดงที่ 1737/2562 ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จํากัด (China Railway Construction Corporation Limited) ได้ยื่นซองข้อเสนอต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในนามกิจการร่วม ค้าเอ็นซีพี เพื่อร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ต่อมา ประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กทท 6022/0987 ลงวันที่ 2 เมษายน 2562 แจ้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 คุณสมบัติของกิจการ ร่วมค้าเอ็นซีพีแล้ว พบความไม่ชัดเจนของข้อมูลในเอกสารบางรายการ จึงแจ้งให้ชี้แจงเอกสาร ตามรายการที่กําหนด ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จึงมีหนังสือลงวันที่ 4 เมษายน 2562 ชี้แจงและส่งเอกสารเพิ่มเติม พร้อมส่งสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีฉบับใหม่ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มี หนังสือ ที่ กทท 6022/1221 ลงวันที่ 23 เมษายน 2562 แจ้งผลประเมินเอกสาร ข้อเสนอซองที่ 2 ว่า เอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีมีความไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จึงมีหนังสือลงวันที่ 24 เมษายน 2562 อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือ ที่ กทท 6022/1549 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ชี้แจงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในคราวการประชุมครั้งที่ 16/2562 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 มีมติไม่เปลี่ยนแปลงโดยยังคงให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ต่อมา เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สกพอ 1003/13 21 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2562 แจ้งขยายระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน และได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สกพอ 1003/1905 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2562 แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เห็นชอบ ยืนตามคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และบริษัท ไซน่า เรลเวย์ฯ เห็นว่า การแจ้งมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าวไม่ได้ระบุเหตุผลของการพิจารณาอุทธรณ์และมีมติหลังจากสิ้นสุดกําหนดระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2562 ร้องเรียนไปยังสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคําวินิจฉัยว่า การลงนามและประทับตราของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นการลงนามเพื่อยืนยันความถูกต้อง ของเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติของตนเท่านั้น การลงนาม และประทับตราของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเพียงส่วนเดียวจึงไม่อาจถือว่าเป็นกรณีที่เสนอรายละเอียดแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่กําหนดในเอกสารการคัดเลือกในส่วนที่เป็นสาระสําคัญ ประกอบกับความเห็นของผู้แทนจากสํานักงานอัยการสูงสุด ในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีรายละเอียดแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่กําหนดในส่วนที่ไม่ได้เป็นสาระสําคัญ และไม่ได้มีผลทําให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีคําวินิจฉัยและ ข้อเสนอแนะให้ประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาทบทวนการดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ และไม่กระทบต่อผู้เสนอราคารายอื่น หรืออาจพิจารณายกเลิกกระบวนการดําเนินการคัดเลือกและเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และรายงานผลการดําเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 30 วัน
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เห็นว่า คําสั่งและคําวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ไม่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ผ่านข้อเสนอซองที่ 2 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนเพียงพอว่า สัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีที่มีความไม่ครบถ้วน และความไม่ถูกต้องในส่วนใด อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามรูปแบบที่กําหนดในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ส่วนการที่ไม่ระบุเหตุผลว่า เอกสารข้อเสนอในซองที่ 2 มีความไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องอย่างไ รและไม่ระบุถึงข้อกฎหมายหรือข้อกําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนก็เป็นการกระทําที่ขัดต่อมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คําสั่งและคําวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีได้ยื่นข้อเสนอทางคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่กําหนด ตามแบบกําหนดในภาคผนวก 16-ฌ แล้ว ข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยในส่วนของตําแหน่ง ลงนามในหน้าลงนามโดยตัวแทนผู้รับมอบให้กระทําการกลุ่มกิจการร่วมค้าไม่ใช่สาระสําคัญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อเสนอ หรือเจตนาของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีชี้แจงและส่งเอกสาร เพิ่มเติม ซึ่งเป็นการดําเนินการตามข้อ 51.5 (ข้อ 51.4 เดิม) ของเอกสารการคัดเลือกเอกชน ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เคยพิจารณาแล้วว่า ตําแหน่งการลงนาม ในสัญญากิจการร่วมค้าดังกล่าวไม่ใช่สาระสําคัญจึงให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีชี้แจง ข้อเท็จจริงบางส่วนเพิ่มเติม การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 จึงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือความโปร่งใสและเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามพิจารณาเพียงตําแหน่งของการลงนาม โดยไม่ได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสัญญากิจการ ร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ตามข้อ 31.2 (1) (ก) 4) ของเอกสารการ คัดเลือกเอกชน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ที่กําหนดไว้
ขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ดังนี้
1. เพิกถอนคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนา ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามหนังสือ ที่ กทท 6022/1221 ลงวันที่ 23 เมษายน 2562
2. เพิกถอนการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยืนตามคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของ ท่าเทียบเรือ F ตามหนังสือ ที่ สกพอ 10071904 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2562
3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดําเนินการประกวดราคา โครงการพิพาทต่อไป โดยพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ซองที่ 4 และซองที่ 5 ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ต่อไป
ศาลปกครองชั้นต้นไต่สวนคู่กรณีแล้ว มีคําสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่มีมติในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามหนังสือ ที่ กทท 6022/1221 ลงวันที่ 23 เมษายน 2562 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนคําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์แล้วมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่มีมติในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น มีผลต่อไปจนกว่าศาลจำมีคำพิพากษาถึงที่สุด ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ส่วนคําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า เมื่อตัวแทนหรือผู้แทนของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จํากัด มิได้ลงลายมือในช่องที่กําหนดตามแบบฟอร์มในภาคผนวก 16-ฌ เป็นส่วนที่เป็นสาระสําคัญและมีผลทําให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น พร้อมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ลงนามในช่องที่กำหนดแต่อย่างใด จึงถือเป็นความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เอง คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่มีมติในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสาร ข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามหนังสือ ที่ กทท 6022/1221 ลงวันที่ 23 เมษายน 2562 จึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ฟังขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่มีมติในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามหนังสือ ที่ กทท 6022/1221 ลงวันที่ 23 เมษายน 2562 นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง
คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จึงถือเป็นข้อยุติได้ว่า คำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่ไม่รับซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่มีมูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาท มีเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูล 2 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ที่ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด และบริษัท China Railway Construction Corporation Limited กับ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ที่ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ บริษัท พีพีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บริษัท China Harbour Engineering Company Limited