xs
xsm
sm
md
lg

"กลุ่มเอ็นซีพี"ยังมีสิทธิ์ลุ้นชิงท่าเรือแหลมฉบังเฟส3

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี " มีลุ้นได้ไปต่อร่วมประมูลพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่า 5.4 หมื่นล้าน ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอศาลปค.สูงสุด เพิกถอนมติคกก.คัดเลือกฯ ที่ตีตก ชี้ไม่ลงลายมือชื่อในช่องที่กำหนดในแบบฟอร์ม ไม่ใช่สาระสำคัญ-ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น

วานนี้ ( 26 ก.พ.) ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เพื่อขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีมติในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอ ซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 27ก.ย.62 ให้มีการเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว และทางคณะกรรมการคัดเลือกฯได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด

โดยการพิจารณาคดีครั้งนี้ องค์คณะได้สรุปข้อเท็จจริงของคดีในกับคู่กรณีฟัง และเปิดโอกาสให้กับคู่กรณีได้แถลงปิดคดี ซึ่งนายเผด็จ เมธิยานนท์ ผู้มอบอำนาจจากบริษัทในกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี ได้แถลงด้วยวาจาว่า ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีมติไม่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ผ่านการประเมินนั้น ผู้ที่มีความเห็นว่าการที่สมาชิกแต่ละรายของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ไม่ได้ลงนามในแบบฟอร์มสัญญากิจการร่วมค้า ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน ภาคผนวก16-ฌ ไม่ได้เป็นสาระสำคัญที่จะส่งผลให้สมาชิกแต่ละราย ไม่ผูกพันในการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวมีการให้เหตุผลประกอบไว้อย่างชัดเจน แต่ฝ่ายที่เห็นว่าการไม่ลงนามนั้น เป็นสาระสำคัญกลับไม่ได้ให้เหตุผลประกอบไว้เลย ส่วนฝ่ายคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ได้แถลงด้วยวาจา

จากนั้นองค์คณะได้ให้ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตนที่ไม่ผูกพันต่อการพิจารณาวินิจฉัยขององค์คณะ ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่าคดีนี้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี มีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง และเมื่อพิจารณาคำสั่งหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนของกทท. และข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าไม่ได้มีการระบุชัดแจ้งว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องลงลายมือชื่อในช่องที่กำหนดในแผ่นที่ 3 ของแบบฟอร์มในภาคผนวก16-ฌ เพียงแต่กำหนดให้ลงลายมือชื่อ ประทับตราสำคัญของบริษัทไว้ทุกหน้าเท่านั้น อีกทั้งแบบฟอร์มดังกล่าว ก็ไม่แบบที่กฎหมายบังคับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์

ดังนั้น การที่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องที่กำหนดของแบบฟอร์ม จึงไม่ใช่รูปแบบอันเป็นสาระสำคัญทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นแต่อย่างใด การที่กลุ่มกิจการร่วมค้าลงลายมือชื่อในที่ว่างด้านล่างของแบบฟอร์ม และประทับตราสำคัญของบริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้าไว้ ย่อมเห็นถึงความรับผิดชอบร่วมกันของสมาชิกแต่ละรายของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการประมูล การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอ ซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ด้วยข้ออ้างว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องที่กำหนด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ควรที่ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ไม่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอเสีย

อย่างไรก็ตามหลังเสร็จสิ้นการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกองค์คณะยังไม่ได้แจ้งคู่กรณีว่า จะมีคำพิพากษาเมื่อใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่มีมูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาทนี้ มีเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูล 2 ราย คือกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ที่ประกอบด้วย บริษัทนทลิน จำกัด บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค จำกัด และบริษัท China Railway Construction Corporation Limited กับ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ที่ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ บริษัทพีพีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บริษัท China Harbour Engineering Company Limited


กำลังโหลดความคิดเห็น