ภาค ปชช.ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้น 2 ชี้ขาดการมีส่วนร่วม ปชช. ขัด รธน. ส่อทำรัฐเสียค่าโง่ทางด่วนซ้ำรอบ 3 วอนศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ระงับมติ ครม. หลังสัญญาเดิมหมดพรุ่งนี้
วันนี้ (27 ก.พ.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมนายพลภาขุน เศรษฐญาบดี ผู้ประสานงานคณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) และตัวแทนองค์กรของผู้บริโภคเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ เครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน เข้ายื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 8 ราย ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 ที่เห็นชอบแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) รวมถึงส่วน D และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งขอให้เพิกถอนสัญญาใดๆ ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ลงนามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.บีอีเอ็ม) และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวสั่งห้ามไม้ให้กระทรวงคมนาคมลงนามในสัญญาสัมปทานดังกล่าวหลังจากสัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2563
ทั้งนี้ นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี กล่าวว่า ทางด่วนขั้นที่ 2 จะหมดสัญญาณสัมปทาน และให้ทรัพย์สินตกเป็นของรัฐ ในวันพรุ่งนี้ แต่เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ครม.กลับมีมติต่อสัญญาไปอีก 15 ปี 8 เดือน โดยไม่ได้ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลพิทักษ์ทรัพย์สินของประเทศ และถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะได้ใช้ทรัพยากรที่ควรตกเป็นของรัฐในราคาถูก เป็นการเยียวยาให้กับประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ อีกทั้งสัญญาที่จะมีการลงนามกันก็ไม่เคยเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับขึ้นราคาค่าผ่านทาง ว่าจะมีการกำหนดหรือปรับขึ้นอย่างไร จึงเห็นว่าการที่ ครม.มีมติต่อสัญญา เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงต้องมายื่นร้องต่อศาลปกครอง และอยากให้ศาลรักษามาตรฐานในการวินิจฉัยคดีที่มีผลกระทบต่อประชาชน โดยมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวดเร็ว เช่นเดียวกับที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีเซ็นทรัล วิลเลจ ภายใน 7 วันหลังจากรับคำฟ้อง
ด้านนายศรีสุวรรณกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการต่อสัญญา และการลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมามีข้อพิรุธหลายประการ เพราะในข้อเท็จจริงเมื่อสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ. ควรคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคนี้กลับมาเป็นสมบัติของประชาชน โดยมี กทพ.เป็นผู้ดูแล ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้ทางด่วนในอัตราที่ถูกในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง อย่างน้อยก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลเหมือนเป็นการมอบของขวัญให้กับประชาชนในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 3-6 เดือนนี้ก่อนที่จะให้กทพ.ไปดำเนินการเก็บค่าผ่านทางเอง ซึ่งน่าจะถูกกว่าเอกชนหลายเท่า แต่กลับมีการลงนามสัญญาทั้งที่ควรที่จะเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับทราบ
“ที่สำคัญสัญญาสัมปทานที่ได้ลงนามกันไป ไม่มีการเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับทราบ แต่จากคำแถลงของรมว.คมนาคม ประธานบอร์ด กทพ.เป็นไปในทิศทางว่าจะนำไปสู่ค่าโง่ทางด่วนอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 หมายความว่าหลังสิ้นสุดสัญญาที่ต่ออายุ 15 ปี 8 เดือน ในสัญญาที่ระบุว่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนได้สิทธิต่อสัมปทานได้อีก อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ณ วันนั้น ถ้า กทพ.อยากจะเอามาดำเนินการเองก็ทำไมได้ เพราะมีสัญญามัดไว้ ฉะนั้นเอกชนจะมีสิทธิเข้ามาดูแลต่อเนื่องอย่างน้อย 35-40 ปี ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง และในที่สุดทางด่วนทั้งหมดก็ไม่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาปากท้อง หรือลดความเลื่อมล้ำของประชาชนได้เลย” นายศรีสุวรรณกล่าว
ส่วนที่อ้างว่าการต่อสัญญาจะนำไปสู่การเพิกถอนคดีความต่างๆ ระหว่างรัฐกับเอกชนรวม 17 คดีที่ฟ้องร้องกันอยู่ในศาลนั้น นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การที่มีการออกมาแถลงเช่นนี่ คิดว่าน่าจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อรัฐมีคดีความกับเอกชน หรือประชาชนแล้ว โดยปกติก็จะมีการสู้คดีกันจนถึงที่สุดจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดออกมา ไม่เคยมีที่หน่วยงานของรัฐจะหยุดกลางคัน หรือยกธงขาวก่อน คำกล่าวดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อพิรุธ และ 17 คดีดังกล่าวที่ผ่านมาบางคดี กทพ.ก็เป็นผู้ชนะ ดังนั้นจะไปเหมาว่าทั้ง 17 คดี ต้องแพ้ทั้งหมดเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นผลประโยชน์โดยตรงของสาธารณชน ที่หน่วยงานของรัฐต้องปกป้องไม่ควรทำในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน