xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องเพิกถอนต่อสัญญาทางด่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จับมือสหภาพกทพ. ฟ้องศาลปค.เพิกถอนมติครม.ต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ชี้ขัดรธน. –พ.ร.บ.ร่วมทุน เอื้อประโยชน์เอกชนรายเดิม อัดรัฐมโนไปเองว่าจะแพ้คดีทั้งที่ยังไม่สู้

วันนี้ ( 2 มี.ค.) น.ส.สาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบ ที่เห็นชอบแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่สอง (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี )และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และระหว่างศาลพิจารณาคดีขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งระงับการบังคับใช้ตามมติครม.ดังกล่าวไว้ก่อน

นางสารี กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวที่ต่ออายุสัญญาสัมปทานไปอีก 15 ปี 8 เดือนไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นมติที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะรัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เป็นผู้ใช้ทางด่วน ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงเสียก่อน แต่กลับไม่มีการดำเนินการ รวมทั้งการแก้ไขสัญญาสัมปทานยังไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 และพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในการให้บริการ ซึ่งประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนจากการที่มติ ครม.และ กทพ.เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อนวันหมดอายุสัญญาสัมปทาน หรือก่อนวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเป้าประสงค์ให้เอกชนรายเดิมได้ต่อสัญญาสัมปทานเพียงรายเดียว อีกทั้งตัวเลขหนี้ที่นำมาคำนวณอายุการต่อสัญญาสัมปทานให้เอกชนนั้น ก็เป็นตัวเลขที่ภาครัฐมโนไปเองว่าคดีทั้งหมดภาครัฐจะแพ้คดี ทั้งที่ยังไม่มีการต่อสู้หรือถูกฟ้องคดีทั้งหมด แต่กลับนำมารวมในการคำนวณค่าเสียหาย

น.ส.สาลี ยังกล่าวอีกว่า การขยายอายุสัญญาดังกล่าว ทำให้รัฐเสียหาย 271,721 ล้านบาท ทั้งที่ควรเป็นรายได้ของ กทพ. หรือรายได้ของประเทศ เพราะหากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานหลังสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 ก.พ.และคาดการณ์รายได้เดิมระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ซึ่งมาจากสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ประมาณ 233,000 ล้านบาท รวมกับรายได้ส่วน D อีกประมาณ 18,000 ล้านบาท และรายได้สัญญาสัมปทานบางปะอิน-ปากเกร็ด 19,600 ล้านบาท และมูลหนี้ที่ต้องชำระจากการแพ้คดีจริงมีแค่ 4,318 ล้านบาทเท่านั้น แต่รัฐบาลกลับนำคดีที่ยังไม่แพ้ไปรวมเป็นค่าเสียหายรวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 78,908 ล้านบาท เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 26,415 ล้านบาท โดยการรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนเอกชน โดยใช้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาไม่โปร่งใส ใช้ฐานข้อมูลรายได้ของรัฐที่ต่ำเกินความเป็นจริง ซึ่งในข้อเท็จจริงเมื่ออายุสัญญาสัมปทานหมดลงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวต้องกลับมาเป็นของรัฐ และเมื่อไม่ต้องมีการแบ่งรายได้กับเอกชน ค่าผ่านทางที่แท้จริงที่ประชาชนต้องจ่ายก็จะอยู่ที่คนละ 36 บาทเท่านั้นไม่ใช่ 60 บาทเหมือนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามทีมทนายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังระบุถึงปัญหาค่าโง่ที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาสัมปทานทางด่วนในอดีต ซึ่งจะต้องไปไล่เบี้ยข้อกฎหมายว่าที่ผ่านมาใครเป็นคนทำสัญญา มีรายละเอียดอย่างไร และใครให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายในการทำสัญญา ซึ่งต้องไปไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่มาผลักภาระให้แก่ประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น