สหภาพแรงงานการทางพิเศษฯ ตั้งข้อสงสัยตั้งแต่อดีตปี 40 รัฐสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต ทั้งที่มีการทักท้วงโดนค่าโง่ จนลามมาถึงล่าสุดยอมต่อสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน แลกถอนฟ้อง 17 คดี โดยไม่คิดต่อสู้เลย ซ้ำยังนึกตัวเลขความเสียหายบิดเบือนเอื้อเอกชน ด้าน “รสนา” จี้แก้กฎหมายเอาพวกเซ็นสัญญาทำชาติเสียหายมารับผิดชอบ ชี้ หากเอาทางด่วนกลับมาเป็นของรัฐ 15 ปี สร้างรายได้ 2 .7 แสนล้านบาท ต่อให้แพ้คดีทั้งหมดต้องจ่าย 1.37 แสนล้านบาท ก็ยังกำไร แต่ทำไมถึงเลือกที่จะขยายสัมปทาน
วันที่ 20 ก.พ. 63 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และ น.ส.ยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานฝ่ายวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ร่วมสนทนาในกรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ยืดสัมปทานแทนค่าโง่ ระวังโง่ซ้ำซาก!!”
น.ส.ยุวธิษากล่าวถึงจุดเริ่มต้นข้อพิพาทว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงทุนกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL (บริษัทย่อยของ BEM) 30 ปีที่แล้วร่วมกันดำเนินการ แต่ก็เกิดข้อพิพาทเกิดขึ้น เนื่องจากการตีความของสัญญาไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเรื่องคดีปรับอัตราค่าผ่านทาง แล้วก็ทางที่มีลักษณะแข่งขัน ที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาไปเมื่อ 17 ก.ย. 2561 ที่ กทพ.ต้องจ่ายชดเชย 4,318 ล้านบาท ซึ่งก่อนที่จะแพ้ สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 จะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 29 ก.พ. 63 กทพ.จึงต้องศึกษา พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ว่าหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ใครทำดีกว่า ระหว่าง กทพ.เอง เอกชนรายเดิม หรือเอกชนรายใหม่
พอแพ้คดีขึ้นมา ครม.ก็บอกว่าให้ไปคุยกัน กทพ.ก็คุยกันที่คดีเดียว คือ 4,318 ล้านบาท ไปๆ มาๆ กลัวแพ้คดีอื่นขึ้นมาอีก เลยทำตัวเลขขึ้นมา ว่า ถ้าแพ้ 100 เปอร์เซ็นต์คิดดอกเบี้ยด้วยจะเสียเงินประมาณ 1.37 แสนล้านบาท ซึ่ง กทพ.มี 2 คดีที่เรียกร้องต่อเอกชน แต่เอกชนเรียกร้องมา 15 คดี เมื่อเอาคดีทั้งหมดหักจากคดีที่ กทพ.ร้อง จะเหลือเลข 1.37 แสนล้านบาท นี่เป็นที่มาของตัวเลขนี้
น.ส.ยุวธิษากล่าวอีกว่า 4,318 ล้านบาท ที่ กทพ.แพ้คดีเนื่องจากสร้างทางแข่งขันกับเอกชน จากการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เมื่อปี 2540 ประเด็นคือ การออกมติ ครม.ในการสร้างทาง ทั้งที่ กทพ.ทักท้วงแล้วว่าจะต้องเสียค่าโง่ เพราะสัญญากำหนดไว้ว่าจะชดเชยหากมีทางแข่งขัน แต่รัฐก็ไปทำอีก
ก่อนตกลงขยายสัญญาสัมปทานไปอีก 15 ปี 8 เดือน เราพยายามบอกส่งข้อมูลให้ อัยการเองก็บอกว่าเรายังมีข้อต่อสู้ แต่สุดท้าย ครม.ก็มีความเห็นว่าต่อสัมปทานดีกว่า
น.ส.ยุวธิษากล่าวต่ออีกว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินมาแล้วว่าเราแพ้ 1 คดี แต่บางคดีมันหมดอายุความก็ไม่ฟังกัน ก็ยังนำคดีที่หมดอายุความไปรวมกับมูลค่าทั้งหมดด้วย
ด้าน น.ส.รสนากล่าวว่า การก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต กทพ.ก็ทักท้วง แต่รัฐบาลจะทำ ค่าโง่เหล่านี้คนใช้อำนาจออกมติแต่ไม่เคยรับผิดชอบ ปล่อยให้ประชาชนรับค่าโง่ไป ระยะเวลาตั้งแต่ปี 39-40 ถึงปัจจุบัน คนลงนามสัญญาหลายคนตายไปแล้ว ก็เป็นต้นแบบว่ากว่าจะมีค่าโง่ พวกเราก็ตายไปแล้ว
คนก็สงสัยทำไมรัฐบาลมีทั้งนักกฎหมาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แพ้เอกชนได้อย่างไร ทำให้ค่าโง่จากการมีมติในอดีตส่งผลมาปัจจุบัน แล้วอ้างเพื่อต่อสัญญาสัมปทานให้เอกชน แถมมโนตัวเลขขึ้นมา ทั้งที่เราไม่ได้แพ้ทุกคดี หรือต่อให้แพ้ก็ไม่ใช่ราคานี้ ซึ่งหากหมดสัญญาไป ทางด่วนกลับมาเป็นของ กทพ. เราก็สามารถลดราคาค่าผ่านทางให้ประชาชนได้เลยเพราะ หรือถ้าเก็บเท่าเดิมก็มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น เอาไปสร้างทางใหม่ได้มากขึ้น หรือเอาไปบริหารบ้านเมืองต่อไป แต่นี่ดันไปมืออ่อนตีนอ่อนไม่ต่อสู้ เราควรต้องแก้กฎหมาย ถ้าโดนค่าโง่ต้องให้พวกนี้เป็นคนจ่าย
น.ส.รสนายังกล่าวอีกว่า ระยะเวลาที่ต่อสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ตัวเลขที่คุยกันรายได้ทั้งหมดจะได้ 2 .7 แสนล้านบาท ต่อให้แพ้คดีทั้งหมดแล้วต้องจ่าย 1.37 แสนล้านบาท ก็ยังกำไร ทำไมถึงเลือกที่จะขยายสัมปทาน