วันนี้ (20 ก.พ.) เวลา 17.20 น. นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด ) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เป็นประธานในการลงนามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และ สัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดย นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ กทพ. ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ กทพ. และนายสุพงศ์ ชยุตสาหกิจ กรรมการบริหาร BEM นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM เป็นผู้ร่วมลงนาม เพื่อยุติข้อพิพาททั้ง 17 คดีที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน โดยจะทำให้สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A, B, C) ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) สิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578
ทั้ง กทพ. และ BEM ยืนยันที่จะเร่งดำเนินการถอนฟ้องคดีที่มีต่อกันทั้ง 17 คดีให้เรียบร้อยภายในวันที่ 28 ก.พ. 2563 เพื่อให้สัญญามีผลบังคับใช้ต่อเนื่องจากสัญญาเดิมที่สิ้นสุด ในวันที่ 29 ก.พ. 2563
นายสุรงค์ บูลกุล ประธาน บอร์ด กทพ. กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 เห็นชอบแก้ไขสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการยุติข้อพิพาทกว่า 25 ปี โดยเริ่มเจรจาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 โดยมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ 7 ครั้ง ไม่เป็นทางการอีกกว่า 100 ครั้ง มีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง อัยการสูงสุด กฤษฎีกา และกรรมการกำกับ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน และว่าจ้างที่ปรึกษา สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาในการเจรจา อีกทั้งมีคณะกรรมการเจรจาของกระทรวงคมนาคม และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตรวจสอบและวิเคราะห์ตัวเลขต่างๆ ดังนั้น กทพ.จึงเชื่อมั่นว่าการเจรจานี้โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน
ส่วนคดีทางแข่งขันซึ่งศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า กทพ.แพ้ มูลค่า 4,318 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะคดีทางแข่งขันมีมูลหนี้ถึง 7.8 หมื่นล้านบาท หากสู้ต่อไปมีโอกาสแพ้สูง และหากรวมคดีไม่ขึ้นค่าผ่านทางด้วยอีก 5.6 หมื่นล้านบาท มูลหนี้พิพาทจะสูงถึง 1.37 แสนล้านบาท และหากปล่อยไปจนสัมปทานสิ้นสุด มูลค่าข้อพิพาทจะสูงถึง 3 แสนล้านบาท ดังนั้น การเจรจาที่ 5.8 หมื่นล้านบาทและแปลงเป็นสัมปทาน 15 ปี 8 เดือนเป็นข้อยุติ และไม่มีหนี้และข้อพิพาทต่อกันอีก ดีที่สุดสำหรับรัฐ อีกทั้งรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และบอร์ด กทพ.ไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหาแต่เป็นผู้แก้ไข อยากให้สังคมและประชาชนเข้าใจว่าการเจรจาไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร อีกทั้งไม่กระทบต่อสถานภาพของ กทพ.อีกด้วย
โดยคดีทางแข่งขันที่ 2 คดี ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว 1 คดี ช่วงปี 2542-2543 ค่าชดเชย 4,318 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อีก 1 คดีช่วงปี 2544-2561 อยู่ระหว่างพิพาท วงเงิน 74,590 ล้านบาท
คดีการไม่ปรับค่าผ่าทางตามสัญญา 11 คดี ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2561 (อยู่ในระหว่างพิพาทชั้นอนุญาโตตุลาการ 8 คดี, อนุญาโตตุลาการที่ชี้ว่า BEM ชนะ 2 คดี, ศาลปกครองกลางตัดสินให้ BEM ชนะ 1 คดี) มีมูลค่าพิพาท 56,034 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นคดีอื่นๆ มูลหนี้พิพาท 7,000 ล้านบาท โดยมี 1 คดีที่ กทพ.ชนะ คิดเป็นมูลหนี้ 491 ล้านบาท
นายดำเกิง ปานขำ รักษาการผู้ว่าฯ กทพ. กล่าวว่า จะใช้มติ ครม. และสัญญา ประกอบคำร้องยื่นถอนฟ้อง ซึ่งจะเริ่มยื่นตั้งแต่ 21 ก.พ. และเร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ 29 ก.พ. เพื่อให้วันที่ 1 มี.ค. 2563 สามารถเริ่มสัญญาที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีถอนฟ้องไม่ทันจะวันที่ 29 ก.พ. นี้จะทำอย่างไร นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า กรณีที่หลังจากนี้อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น กทพ.และ BEM จะเร่งหารือกันก่อนวันที่ 29 ก.พ
.
@ “ศักดิ์สยาม” เตรียมส่งต่อ DSI สอบสวนหาผู้รับผิดข้อพิพาททางด่วน
ด้านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้รอมติ ครม.วันที่ 18 ก.พ. เพื่อส่งเรื่องไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดข้อพิพาท ซึ่งจะมีทั้งบุคคลและกลุ่มบุคคล ทั้งนี้ยืนยันการแก้ไขสัญญาทางด่วนเพื่อยุติข้อพิพาทและเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นธรรม
โดยการต่อสัญญาทางด่วนดังกล่าวเพื่อยุติข้อพิพาทนั้น เป็นการนำสิทธิการเจรจาเพื่อการต่อสัญญาตามข้อ 21 ของสัญญาดิมมาใช้ ซึ่งกำหนดให้ BEM สามารถเจรจาต่อสัญญาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี (20 ปี) ดังนั้น เมื่อการต่อสัญญาในครั้งนี้ สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 จะมีสิทธิ์เจรจาต่อสัญญาเฉพาะเวลาส่วนที่เหลือเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขและผลตอบแทนใหม่ ณ เวลานั้นก่อน
โดยสัญญาทางด่วนส่วน A B และ C เมื่อต่อสัญญาเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ครบวันที่ 31 ตุลาคม 2578 แล้วนั้น BEM ยังคงคงเหลือสิทธิ์อีก 4 ปี 4 เดือน
ส่วนสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ซึ่งสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 22 เมษายน 2570 เมื่อ ขยายสัญญาออกไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 คิดเป็นระยะเวลาที่ขยาย 8 ปี 6 เดือน ยังเหลือสิทธฺเจรจาขยายอีก 11 ปี 6 เดือน
สัญญาทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) ซึ่งสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. 2569 เมื่อขยายสัญญาออกไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 คิดเป็นระยะเวลาที่ขยาย 9 ปี 1 เดือน ยังเหลือสิทธิเจรจาขยาย อีก 10 ปี 11 เดือน