ครม.เห็นชอบต่อสัญญาทางด่วน 15 ปี 8 เดือน ยุติพิพาท 17 คดี กทพ.ประชุมบอร์ด 19 ก.พ. เร่งลงนามสัญญาและถอนฟ้องตามเงื่อนไขก่อน 29 ก.พ. “ศักดิ์สยาม” ยัน BEM ยังมีสิทธิ์ต่อสัญญา 10 ปี 2 ครั้งตามสัญญาข้อ 21 โดยต้องเจรจาผลตอบแทนใหม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (18 ก.พ.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมในการแก้ไขสัญญาทางด่วนฉบับเดิม ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบจากอัยการสูงสุดแล้ว คือร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข ลงวันที่....) และร่างสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข ลงวันที่....) เพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อยุติข้อพิพาททั้ง 17 คดีที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน โดยจะทำให้สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A, B, C) ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และ สัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) สิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบการส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดข้อพิพาท โดยยกขึ้นเป็นคดีพิเศษ
ทั้งนี้ ครม.มีความจำเป็นต้องเร่งพิจารณาเนื่องจากสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และ C จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งหลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วการเจรจาจะทำไม่ได้แล้ว เพราะตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องเปิดประมูลใหม่ ขณะที่สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ได้ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ซึ่งระบุว่ากรณีที่มีปัญหาสามารถเจรจาแก้ไขปรับปรุงสัญญาได้ ซึ่งได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้วว่าสามารถทำได้ภายใน พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 56
หลังจากนี้ กทพ.และ BEM จะต้องเร่งถอนคดีพิพาทที่มีต่อกันทั้ง 17 คดีให้เรียบร้อย โดยระหว่าง กทพ. กับ BEM นั้นมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว คือ ข้อพิพาททางแข่งขัน รวมเป็นเงิน 4,359 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีคดีที่ กทพ.แพ้ทั้งหมด 3 คดี รวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีอีก 11 คดีที่ กทพ.แพ้ในชั้นคณะไกล่เกลี่ยและอนุญาโตตุลาการเตรียมเสนอสู่ชั้นศาล มีเพียง 1 คดีที่ กทพ.ชนะ คิดเป็นมูลหนี้ 491 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้ให้อัยการสูงสุดส่งอัยการช่วยดำเนินการถอนข้อพิพาทด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน
ข้อพิพาททั้งหมด หากไม่ยุติจะเกิดภาระดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ โดยจากการวิเคราะห์ คดีสุดท้ายจะตัดสินในปี 2578 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายใดจะชนะ แต่มูลหนี้พิพาทจะเพิ่มไปถึง 3 แสนกว่าล้านบาท ทำให้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ครม.จึงได้มีมติให้นำคดีที่อยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ และในชั้นศาลมาเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด
สำหรับประเด็นข้อเป็นห่วงที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. สภาผู้แทนราษฎร และประชาชน สงสัย เช่น กรณีทางแข่งขัน ซึ่งเป็นสัญญาข้อ 16 นั้น สัญญาแก้ไขได้ตัดข้อนี้ออก จะไม่มีปัญหาเรื่องทางแข่งขันหลังจากนี้, การเจรจายุติทั้ง 17 คดี และตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเรื่องที่เหมาะสม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงิน มีการแก้ไขสัญญา และปรับค่าผ่านทางครั้งเดียวในปี 2571 จำนวน 10 บาท และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตามที่ ครม.ประกาศ จะยกเว้นค่าผ่านทางด้วย
ประเด็นบางคดีขาดอายุความ 10 ปีนั้น ได้ทำหนังสือถามอัยการสูงสุด และได้ตอบยืนยันมาที่กระทรวงการคลังว่าไม่มีคดีใดที่ขาดอายุความ เนื่องจากตามกฎหมายคดีที่อยู่ในชั้นเจรจาไกล่เกลี่ยจะยังไม่นับอายุความ แต่หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จและเข้าสู่อนุญาโตตุลาการจึงจะเริ่มนับอายุความ
ส่วนกรณีที่สหภาพฯ กทพ.เป็นห่วงเรื่องการลงบัญชีหนี้ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถจ่ายโบนัสได้ 20 ปี เพราะบัญชีมีหนี้สะสม จากการสอบถามหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้ง สตง., คนร.ยืนยันว่า หากเจรจาจบถอนคดีหมด จะไม่มีหนี้เกิดขึ้น หากกังวล สคร.จะเข้ามาช่วยจัดระบบบัญชีไม่ให้ติดเป็นหนี้
นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการหารือในกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตั้งกรรมาธิการ 39 คนพิจารณา และมีมติเสียงข้างมาก 21 คนเห็นชอบต่ออายุสัมปทานทางด่วน เสียงข้างน้อย 12 คนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 5 คน และไม่มาประชุม 1 คน และได้เสนอต่อสภาฯ และมีมติ จากนั้นรายงานไปที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งได้นำความเห็นของ กมธ.เสียงข้างน้อยไปปรับปรุงแก้ไขด้วย
@ศักดิ์สยามยัน BEM ยังมีสิทธิ์ต่อสัญญา 10 ปี 2 ครั้งตามสัญญาข้อ 21
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กทพ.และ BEM จะต้องลงนามแก้ไขสัญญาก่อนวันที่ 29 ก.พ.นี้ ซึ่งเมื่อ กทพ.ผิดสัญญาจึงต้องชดเชยให้ BEM โดยไม่จ่ายเป็นเงิน แต่ชดเชยเป็นเวลา ซึ่งมี 3 เรื่องที่ผิดสัญญาที่เอกชนมีสิทธิ์ฟ้องร้อง คือ 1. กรณีทางแข่งขัน จากโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต 2. การปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี โดยอ้างอิงดัชนีผู้บริโภค (CPI) ถึง 5% ซึ่งไม่ได้ปรับ เอกชนใช้สิทธิ์ฟ้องตามสัญญา 3. การผิดสัญญาในเรื่องการเช่าอาคารต่างๆ
ทั้งนี้ สัญญาที่แก้ไขโดยต่อสัญญาให้ BEM 15 ปี 8 เดือนนั้นเพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยที่ค่าผ่านทางขึ้นครั้งเดียวปี 2571 โดยปรับขึ้น 10 บาท ขณะที่ BEM ยังคงมีสิทธิ์ได้ต่อสัญญาซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขข้อ 21 ของสัญญาเดิมอยู่ โดยมีสิทธิ์ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี โดยจะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขและผลตอบแทนใหม่ ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นไปตามสัญญาปกติทั่วไป
ทั้งนี้ หากไม่เจรจาแล้วให้ กทพ.ดำเนินการเอง โดยนำรายได้จากค่าผ่านทางไปจ่ายหนี้คดีทั้งหมด ซึ่งประเมินแล้ว รายได้ที่มีอาจไม่เพียงพอในการจ่ายหากแพ้คดี ซึ่งมีหนี้กว่า 3 แสนล้านบาท
ส่วนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และแก้ปัญหาจราจรบนทางด่วนทั้งระบบ ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางขึ้นลงต่างๆ ทางเชื่อมต่างๆ นั้น กระทรวงคมนาคมจะศึกษาโดยใช้เวลา 2 ปี โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 62 ได้อนุมัติโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอก กทม.ด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. วงเงิน 15,200 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFF
@จับตาประชุมบอร์ด กทพ.วันนี้ (19 ก.พ.) เร่งตั้งรักษาการผู้ว่าฯ คนใหม่
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด ) กทพ. กล่าวว่า จะประชุมบอร์ด กทพ.ในวันที่ 19 ก.พ. เพื่อรายงานมติ ครม. จากนั้นจะเร่งการลงนามสัญญาและดำเนินการถอนฟ้องข้อพิพาททั้งหมด ส่วนกรณีที่รักษาการผู้ว่าฯ กทพ.ลาออกนั้นบอร์ดจะมีการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ กทพ. และ BEM ตกลงเพื่อยุติข้อพิพาทที่มีทั้งหมด ด้วยการแก้ไขสัญญา 3 ฉบับออกไปสิ้นสุดพร้อมกันปี 2571 โดยไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ซึ่งเรื่องทางด่วน 2 ชั้น กทพ.จะศึกษาเองทั้งระบบ ในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งจะมีการทำทางขึ้นลงสถานีกลางบางซื่อ และจุดตัดทางเชื่อมต่างให้สมบูรณ์
นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้ใช้เครื่องมือในการประเมินตัวเลขค่าเสียหาย และระยะเวลาต่อสัญญาที่เหมาะสม โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โมเดล eBUM มีการคาดการณ์ปริมาณจราจร การเดินทางรูปแบบการเดินทางในโมเดลต่างๆ จะมีผลต่อปริมาณการจราจรในแต่ละเส้นทางขนส่ง ข้อมูลที่นำมาใส่เข้าโมเดล eBUM มาจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ทั้งสถาพัฒน์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมการปกครอง ฯลฯ ที่มีการคาดการณ์จากจำนวนประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการเดินทาง รายได้
ปริมาณจราจรจะเป็นตัวที่จะคำนวณรายได้ค่าผ่านทาง และหลังแบ่งให้ กทพ. 60% หักค่าซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่าย จะเหลือเป็นรายได้ที่จะนำไปหักเป็นค่าหนี้ จากการวิเคราะห์ตัวเลข ได้มูลหนี้ 7.8 หมื่นล้านบาท ออกมาที่เวลา 19 ปี 1 เดือน ดังนั้น จากการเจรจาต่อรองที่ 15 ปี 8 เดือน จึงสมเหตุสมผล
รายงานข่าวแจ้งว่า คาดว่าที่ประชุมบอร์ด กทพ. 19 ก.พ. จะมีการตั้งนายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ กทพ. ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ กทพ.ใหม่ หลังจากที่ นายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการ ได้ยื่นลาออก รักษาการผู้ว่าฯ กทพ. ซึ่งจะมีผลวันที่ 3 มี.ค. 63