ข่าวปนคน คนปนข่าว
** ปิดมหากาพย์ 25 ปี ข้อพิพาททางด่วน1.3 แสนล้าน งานนี้เอื้อประโยชน์ใครต้องดูว่า รัฐ-ประชาชน ได้มากกว่ามั้ย?
หลังจากยืดเยื้อตั้งแต่"รัฐบาลคสช." มาต่อที่"รัฐบาลลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่สุดมหากาพย์ข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ก็จบลงเสียที มีพิธีร่วมลงนามในสัญญา แก้ไขสัญญาสัมปทาน 2 ฉบับเป็นที่เรียบร้อยไปเมื่อวาน(20ก.พ.)
ต้องถือว่าเป็นการยุติข้อพิพาท มูลค่ากว่า 137,000 ล้านบาท โดยการขยายอายุสัมปทานให้ BEM 15 ปี 8 เดือน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการถอนฟ้องทุกคดีให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มี.ค. 63
เบื้องหลังงานนี้ก็ต้องให้เครดิตติดโบ แก่ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม พรรคภูมิใจไทย ที่เข้ามารับตำแหน่งปุ๊บ ก็ต้องมาเจอโจทย์ยากนี้ที่ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ทิ้งไว้
มีแรงกดดันจากภายนอก ภายใน กดดันเรื่องนี้แต่ก็ผ่านทั้งชั้นกรรมาธิการสภาฯ คณะกรรมการของกระทรวงเอง เรียกว่าฝ่าด่านกลั่นกรอง เอาให้ชัวร์
ต้องไม่ลืมว่า ข้อพิพาทนี้มีมากว่า 25 ปี โดยเริ่มเจรจาตั้งแต่เดือนต.ค.61 โดยมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ 7 ครั้ง ไม่เป็นทางการอีกกว่า 100 ครั้ง มีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง อัยการสูงสุด กฤษฎีกา และกรรมการกำกับ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน และว่าจ้างที่ปรึกษา สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ในการเจรจา
อีกทั้งมีคณะกรรมการเจรจา ของกระทรวงคมนาคม และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตรวจสอบและวิเคราะห์ ตัวเลขต่างๆ ... ดังนั้นฝ่ายรัฐ กทพ. จึงเชื่อมั่นว่าการเจรจานี้โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน
แต่เนื่องเพราะเป็นเรื่องที่คนสนใจ ว่ากันว่าฝ่ายค้านจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายซักฟอกรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะประเด็นว่า เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่ ?
วันก่อนจึงร้อนถึง "ลุงตู่" ต้องพูดให้เคลียร์ไว้ว่า สัมปทานทางด่วน BEM รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนต้องดูแลซึ่งกันและกัน อภิปรายมาก็ชี้แจงได้... ไม่มีปัญหา
ว่ากันตามตรง การลงนามในสัญญาทั้งสองถือเป็นการยุติข้อพิพาทตามแนวทางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด นอกจากยุติข้อพิพาทใน 3 กลุ่ม ที่มีมูลค่าข้อพิพาท 137,517 ล้านบาทแล้ว นับจากวันนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการดำเนินขั้นตอนการถอนฟ้องในทุกคดีให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานของทางด่วน ขั้นที่ 2 ส่วน A B C ช่วงแจ้งวัฒนะ-อโศก-บางโคล่ จะหมดอายุลง วันที่ 29 ก.พ. 63
ที่สำคัญที่ต้องมองไปถึงอนาคต การลงทุนพัฒนาทางด่วนของภาครัฐ ก็จะไม่ติดปัญหาเรื่องการแข่งขัน เกิดการฟ้องกันไป- มา ซ้ำรอยเดิมอีก โดยจะสามารถลงทุนพัฒนาทางด่วนได้ในทุกเส้นทางที่เห็นว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์
คดีนี้เป็นเรื่องของข้อพิพาททางแข่งขัน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า กทพ.แพ้ มูลค่า 4,318 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะคดีทางแข่งขันมีมูลหนี้ถึง 7.8 หมื่นล้านบาท มีการประเมินแล้วว่า หากกทพ.สู้ต่อ มีโอกาสแพ้สูง และหากรวมคดีไม่ขึ้นค่าผ่านทางด้วยอีก 5.6 หมื่นล้านบาท มูลหนี้พิพาทจะสูงถึง 1.37 แสนล้านบาท และหากปล่อยไปจนสัมปทานสิ้นสุด มูลค่าข้อพิพาทจะสูงถึง 3 แสนล้านบาท
ดังนั้น การเจรจาที่ 5.8 หมื่นล้านบาท และแปลงเป็นสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน เป็นข้อยุติ และไม่มีหนี้ และข้อพิพาทต่อกันอีก จึงดีที่สุดสำหรับรัฐ
งานนี้ หากจะมีคำถามว่า เอื้อประโยชน์ให้ใคร ก็ต้องดูว่ารัฐและประชาชน ได้ประโยชน์มากกว่าหรือไม่.
** ลุ้นระทึก!! กูรูกฎหมายชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่ ออกได้ 3 หน้า ถ้ายุบพรรค มีคดีอาญาตามมาแน่ แต่ถ้าไม่ยุบ ก็ยังอาจหนีคดีอาญาไม่พ้น
วันนี้ (21 ก.พ.) เป็นวันชี้ชะตา พรรคอนาคตใหม่ ว่า จะถูก"ยุบ" หรือ"ไม่ยุบ" จากกรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ให้พรรคอนาคตใหม่ กู้ไปใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
เมื่อเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ ทางศาลรัฐธรรมนูญ จึงวางมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะนอกจากสื่อมวลชนจำนวนมากที่มาทำข่าวแล้วยังมี ประชาชนทั่วไป “ติ่งสีส้ม” ที่จะมาให้กำลังใจ หรือติดตามรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ รวมทั้งตัวแทนสถานทูตต่างประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป และ สถานทูตสหรัฐฯ ก็จะร่วมฟังคำวินิจฉัยคดีด้วยเช่นกัน ...
สำหรับในการพิจารณาคดีนั้น ช่วงเช้าคณะตุลาการฯ จะมีการประชุมแถลงด้วยวาจา และลงมติ จากนั้นก็จัดทำคำวินิจฉัย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยคดี ในเวลา 15.00 น.
คราวนี้มาดู ข้อกฎหมาย และคำชี้แจงของ กกต. ที่ยื่นต่อศาลฯ ให้พิจารณา “ยุบพรรคอนาคตใหม่” นั้น กกต. ยกเอา “มาตรา 62 “ ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดที่มารายได้ของพรรคการเมืองไว้ 7 ประเภท เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการพรรคการเมือง โดยไม่มีประเภทรายได้อื่น ที่เปิดช่องให้พรรคการเมืองสามารถ “กู้ยืมเงิน” มาดำเนินกิจการได้
ดังนั้นรายได้ ตามกฎหมายพรรคการเมืองนี้ จึงต่างจากรายได้ของนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์... แม้เงินกู้จำนวนดังกล่าว จะเป็นเงินที่มีที่มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็อาจเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพรรคการเมืองได้
ขณะเดียวกัน กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาของรายได้แต่ละประเภท คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ให้ ไว้แตกต่างกัน เช่น รายได้จากเงินบริจาคตาม “มาตรา 66 “ ที่ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่า “เกิน 10 ล้านบาท” ต่อพรรคการเมืองต่อปี มิได้ ...
ดังนั้นเงินที่ไม่เป็นไปตามประเภทรายได้ หรือรับเงินโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาของรายได้ตามที่ ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดไว้ เงินที่ได้มา จึงไม่เป็นเงินจากแหล่งรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด... จึงไปเข้าลักษณะความผิดตาม “มาตรา 72” ที่ระบุว่า... ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้ หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย...
หากพฤติกรรมเข้าความผิดตาม “มาตรา 72 “ แล้ว บทลงโทษ ก็จะเป็นไปตาม “มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)” ที่ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค
ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ ต่อสู้ว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล เช่นเดียวกับบริษัทเอกชน สามารถกู้ยืมเงินได้ โดยมีพรรคการเมืองอีก 16 พรรค ที่มีการกู้เช่นกันแต่ กกต. กลับเลือกปฏิบัติ ไม่ดำเนินการเอาผิด ... รวมทั้งเงินกู้ไม่ใช่เงินรายได้ ไม่ใช่บริจาค รวมถึงไม่ใช่ผลประโยชน์อื่นใด หรือเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบที่จะผิด “มาตรา 72 อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณาของ กกต.เร่งรัด ไม่ถูกต้อง ไม่ให้โอกาสพรรคในการยื่นเอกสารหลักฐานอย่างเต็มที่ ซ้ำเป็นการ “มุ่งที่จะเอาผิดกับพรรคอนาคตใหม่โดยเฉพาะ”
พรรคอนาคตใหม่ไม่เน้นที่จะชี้แจง แสดงเหตุผล แก้ข้อกล่าวหาของ กกต. ตามตัวบทกฎหมาย แต่กลับพุ่งไปที่กกต. ว่า “เลือกปฏิบัติ” และ “ตั้งธง” ที่จะเอาผิดกับพรรคอนาคตใหม่โดยเฉพาะ
คราวนี้มาดูแนวทางคำวินิจฉัยของศาลฯ ที่ "กูรูด้านกฎหมาย" ได้วิเคราะห์ไว้ 3 แนวทาง คือ
1. ศาลฯ เห็นว่าผิดจริง ตัดสินยุบพรรค เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ตามแนวคำวินิจฉัยที่ศาลฯ ได้เคยวินิจฉัยไว้ใน คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถ้าเป็นแนวทางนี้ กกต. ก็จะมีการดำเนินคดีอาญาซ้ำตามหลังด้วย
2. ศาลฯ เห็นว่าพรรคไม่มีความผิดตาม มาตรา 72 ให้ยกคำร้อง
3. มีความผิด แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 62 มาตรา 66 เท่านั้น อันนี้ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลฯ จะพิจารณา จึงยกคำร้องยุบพรรค
ถ้าเป็นไปตามแนวทางที่ 3 นี้ เรื่องก็จะวนกลับมาที่ กกต. ที่จะต้องดำเนินการ ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 เพื่อดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง “มาตรา 124” ที่กำหนดเอาผิด ผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ต้องระวางโทษ “จำคุกไม่เกิน 5 ปี” หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น 5 ปี
และยังมี “มาตรา 125” ที่กำหนดเอาผิดพรรคการเมืองที่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด มีมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษ “ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท” และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น 5 ปี และให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดส่วนที่เกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 10 ล้านบาท ตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
รวมทั้งอาจมีการดำเนินคดี ในกรณีที่พรรคมีการนำเงินรายได้ของพรรค ที่ได้จากการระดมทุน การรับบริจาค ขายของที่ระลึก ซึ่งกฎหมายกำหนด ห้ามนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองตาม “มาตรา 87 “ ไปใช้หนี้เงินกู้ให้กับ "ธนาธร" โดย “มาตรา 132” กำหนดโทษไว้ หากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และเหรัญญิกพรรค ผู้ใดนำเงินหรือยินยอมให้บุคคลนำเงิน ทรัพย์สินของพรรคไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือบุคคลอื่้น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่น อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี ปรับ ตั้งแต่ 1 แสน - 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการเอาผิดทางอาญานั้นจะต้องต่อสู้ในศาลถึง 3 ศาล
คดียุบพรรคอนาคตใหม่ จะออกตาม ข้อ1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 รู้กัน บ่าย3 โมงวันนี้ !!