ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งโลก และบ้านเรา ก็ยังมีข่าวดีของการลงทุนในเขตเศรษฐกิจอีอีซีอยู่บ้าง เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 13 มีนาคม ยกคำร้องของกลุ่มเอ็นพีซี ที่ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ที่ไม่รับซองเอกสารที่ 2 เพื่อร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ของกลุ่มเอ็นพีซี
ที่บอกว่า เป็นข่าวดี ก็เพราะว่าหลังจากนี้ การเจรจากับผู้เสนอตัวลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ที่ปฏิบัติตามกติกาอย่างครบถ้วนคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีพีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก็จะเดินหน้าไปได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลว่า จะต้องย้อนกลับไปนับหนึ่งใหม่ หากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ยืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้คืนสิทธิกลุ่มเอ็นพีซี หรือต้องสะดุดหยุดชะงักจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นพีซีอีก
เพราะกลุ่มเอ็นพีซีได้ใช้สิทธิร้องเรียนครบถ้วนทุกช่องทางที่มีอยู่แล้ว ตั้งแต่ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, สำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด
กลุ่มเอ็นพีซีถูกตัดสิทธิการร่วมประมูล เพราะสมาชิกของกลุ่มทั้ง 5 ราย คือ บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท แอสโซซิเอท อินฟีนิตี้ จำกัด , บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ลงชื่อในสัญญากิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารซองที่สอง ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้เสนอตัวร่วมลงทุน จึงถูกคณะกรรมการประเมินว่า ไม่ผ่านการพิจารณา เพราะเอกสารไม่ครบถ้วน และไม่เปิดซองที่ 3 เรื่องการเงิน และซองที่ 4
สัญญากิจการร่วมค้า เป็นเอกสารที่มีความสำคัญในประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชน หรือ RFP (Request for Proposal) กำหนดให้สัญญากิจการร่วมค้า เป็นเอกสารด้านคุณสมบัติ ต้องยื่นประกอบอยู่ในเอกสารข้อเสนอซองที่ 2
เนื่องจากกิจการร่วมค้าไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย จึงต้องมีสัญญากิจการร่วมค้าเป็นการแสดงเจตนาของสมาชิกทุกรายในการก่อตั้งกิจการร่วมค้า และแสดงเจตนาร่วมรับผิดด้วยกัน และแทนกันต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ
การลงนามในสัญญากิจการร่วมค้า ต้องลงนาม 2 จุดคือ ตัวแทนของกิจการร่วมค้า ลงนามด้านล่างของสัญญาร่วมค้าทุกหน้า เพื่อยืนยันว่าสัญญาร่วมค้าเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติ จุดที่สองคือ ลงนามในช่องของแบบฟอร์มรายชื่อ และตำแหน่งของตัวแทนสมาชิกแต่ละราย เพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสารคุณสมบัติของตนเอง เป็นการแสดงเจตนาของสมาชิกแต่ละรายว่า จะร่วมรับผิดด้วยกัน และแทนกัน
กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ลงนามในสัญญากิจการร่วมค้าครบทั้งสองจุด แต่ตัวแทนเอ็นพีซีลงนามรับรองว่า สัญญาร่วมค้าเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติ แต่สมาชิกทุกรายไม่ลงนามในแบบฟอร์มรายชื่อตัวแทนสมาชิกแต่ละราย
ความหมายก็คือว่า สมาชิกทุกรายในเอ็นพีซีไม่ยอมทำข้อผูกพันว่า จะร่วมรับผิดด้วยกัน และรับผิดแทนกัน สมมติว่า มีความเสียหายหรือทำผิดสัญญาเกิดขึ้น การท่าเรือฯ จะเอาผิดกับใครไม่ได้เลย เพราะกิจการร่วมค้าไม่ใช่นิติบุคคล
เอ็นพีซีต่อสู้ว่า การที่ไม่ได้ลงนามในสัญญากิจการร่วมค้า ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ได้มีผลทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลปกครองชั้นต้น และตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วย คล้อยตาม
แต่ตุลาการผู้พิจารณาคดี ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า การที่ตัวแทนของสมาชิกกลุ่ม เอ็นพีซีทั้ง 5 ไม่ได้ลงนามในช่องที่กำหนดตามแบบฟอร์มในภาคผนวก 16-ฌ เป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ และมีผลทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น อีกทั้งผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 (ไชน่า เรลเวย์ ไม่ได้ฟ้อง) ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ลงนามในช่องที่กำหนดแต่อย่างใด จึงถือเป็นความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 เอง
คำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกให้เอ็นพีซีไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเป็นให้ยกฟ้อง
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่จะทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีเป็นจริง สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั่วโลก จนถึงขณะนี้มี 2 โครงการที่มีการเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ส่วนโครงการเมืองสนามบินอู่ตะเภา ได้ผู้ผ่านการคัดเลือกอย่างไม่เป็นทางการแล้ว อยู่ระหว่างการเจรจา
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เห็นว่า การตัดสิทธิร่วมประมูลของเอ็นพีซีมีความชอบธรรมแล้ว จะทำให้โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 สามารถเดินหน้าไปได้แล้ว หลังจากต้องเสียเวลาไปเกือบหนึ่งปีเต็มกับการขัดขวางจากผู้ที่ทำผิดกติกา