xs
xsm
sm
md
lg

กทท.เร่งเปิดเจรจา ทลฉ.เฟส 3 ต่อรองกลุ่ม GPC เพิ่มผลตอบแทนรัฐ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.เดินหน้าเจรจาต่อรอง กลุ่ม GPC หวังเพิ่มผลตอบแทนสัมปทาน แหลมฉบังเฟส 3 ให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด เผยเอกชนเสนอ1.2 หมื่นล.ต่ำกว่ากรอบครม.ที่ 3.2 หมื่นล. นัดเจรจา 18 มี.ค. นี้ คาดสรุปผลเจรจา เม.ย.ชงบอร์ดอีอีซี เซ็นสัญญาในพ.ค. 63 เผย“โควิด-19” ฉุดตู้สินค้าปีนี้ ลดกว่า 3 แสนตู้

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ว่า หลังจาก ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ยกฟ้อง กรณีที่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ทำให้คำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเดินหน้าตามขั้นตอนโดยจะประชุมในวันที่ 18 มี.ค. เวลา 14.00 น. เพื่อเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนด้านการเงิน (ซองที่ 4) ครั้งแรก ซึ่งคาดว่าจะต้องเจรจาหลายครั้งโดย เนื่องจากทางกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มบมจ.ปตท (PTT) , บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF) , บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) ยื่นเสนอผลตอบแทนสัมปทานที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท(NPV) เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ในส่วนของร่างสัญญาสัมปทานนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วและเห็นชอบแล้ว โดยมีการปรับแก้เล็กน้อย

สำหรับกรอบผลตอบแทนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติที่ 32,225 ล้านบาท (ผลตอบแทนตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี) ซึ่งการที่เอกชนเสนอต่ำกว่ากรอบราคากลางเพราะใน RFP ไม่ได้กำหนดให้ต้องเสนอสูงกว่ากรอบครม. โดยผลตอบแทนของเอกชนจะทยอยจ่ายในช่วงแรกต่ำ และค่อยๆเพิ่มขึ้น ในปีท้ายๆ ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะเจรจาเพิ่มผลตอบแทนได้อีก คาดว่าจะสรุปผลเจรจาได้ในเดือนเม.ย.และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. และเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.หรือ บอร์ดอีอีซี) และครม.คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ประมาณเดือนพ.ค. 2563 เปิดให้บริการในปลายปี 2566 ซึ่งเลื่อนจากเป้าหมายอีอีซี ที่กำหนดจะเปิดต้นปี 2566 หรือล่าช้าประมาณ 1 ปี
โดยข้อเสนอผลตอบแทนมี 2 ส่วนคือ ผลตอบแทนคงที่ และผลตอบแทนที่แปรผันตามปริมาณตู้ซึ่งเบื้องต้นเสนออัตรา กว่า 100 บาท/ตู้ ซึ่งถูกต้องตามที่ประเมิน โดยคณะกรรมการฯจะเจรจาเพิ่มผลตอบแทนทั้ง 2 ส่วน แต่จะเน้นที่ผลตอบแทนคงที่เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่าผลตอบแทนแปรผัน โดยเอกชนจะเริ่มจ่ายผลตอบแทนในปีที่ 3 หลังจากลงนามสัญญา
“คณะกรรมการคัดเลือกฯมีหน้าที่เจรจาผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐได้สูงที่สุด ส่วนอำนาจตัดสินใจคือ คณะกรรมการอีอีซี ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พ.ศ.2561มาตรา 11 (8) ”
สำหรับแหลมฉบังเฟส 3 นั้น มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณตู้สินค้า ซึ่งมีอัตราการเติบโตประมาณ 3-4% ต่อปี คาดว่าแหลมฉบังจะเต็มใน 5-6 ปี จึงต้องเริ่มดำเนินการเฟส 3 ตอนนี้เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้าง และหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยุติ คาดว่าตู้สินค้าจะกลับมาเพิ่มตามปกติ

เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯยังไม่ได้เปิดซองข้อเสนอการเงินของกลุ่ม NCPที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ ดังนั้นจึงไม่ทราบตัวเลข มีเพียงตัวเลขจากข่าว ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการคืนซอง ซึ่งจะทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน RFP ส่วนซองที่ 5 ของกลุ่ม GPC เป็นข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ซึ่งหลังเจรจาซอง 4 เรียบร้อยจะเจรจาซอง 5 ต่อ เพื่อให้รัฐได้ผลประโยชน์สูงสุดเช่นกัน

ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 กทท.ดำเนินการเอง มี 4 ส่วน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างทางทะเล วงเงิน22,000 ล้านบาท 2. งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค 6,700 ล้านบาท 3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ 4. งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อสร้างไม่น้อยกว่า 52 เดือน ซึ่ง งานก่อสร้างทางทะเล เปิดประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)แล้ว ขายเอกสารตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2563 ถึง 5 พ.ค. 2563 กำหนดยื่นข้อเสนอ วันที่ 7 พ.ค. 2563

@อีอีซี หากผลตอบแทนต่ำกว่ากรอบครม.ต้องมีเหตุผลที่พิสูจน์ได้

นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ผลตอบแทนที่เอกชนเสนอต่ำกว่ากรอบครม.อนุมัตินั้น ทางอีอีซีได้กำหนดให้คณะกรรมการฯคัดเลือกเจรจา ให้ใกล้เคียงกับที่รัฐต้องการมากที่สุด หากเจรจาถึงที่สุดยังไม่ถึงกรอบที่ครม.อนุมัติ คณะกรรมการฯ ต้องชี้แจงเหตุผล ชึ่งทางอีอีซีจะตรวจสอบรายละเอียดเหตุผลอีกที ว่ารับฟังได้หรือไม่ หรือมีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงทำให้ตัวเลขไม่เป็นไปตามที่ศึกษาไว้เดิม ขั้นตอนหลังจากยังมีอีกมากและต้องพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจน และยืนยันว่าที่มาของกรอบผลตอบแทน มีการศึกษาจากสมมุติฐาน จากการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งที่ปรึกษาฯ มั่นใจว่าตัวเลขมีความเหมาะสมถูกต้อง ส่วนเอกชนมีสิทธิ์เสนอตัวเลข ส่วนรัฐก็มีสิทธิ์เจรจาและไม่รับได้ อยู่ที่ตกลงกัน

@คาด”โควิด-19” ฉุดตู้สินค้าปีนี้ ลดกว่า 3 แสนตู้

เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ปริมาณตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพปรับตัวลดลง ซึ่งมากจากทั้งผลกระทบไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าทั้งปี ท่าเรือกรุงเทพ จะลดลงประมาณ 1 แสนทีอียู จาก 1.45 ล้านทีอียู(ปี 62) เหลือ 1.35 ล้านทีอียู ส่วนท่าเรือแหลมฉบังลดลง 2 แสนทีอียู จาก 8.11 ล้านทีอียู(ปี 62) เนื่องจากทลฉ.มีสินค้าส่งออกหลักๆ ไปประเทศจีนกว่า 30% ดังนั้นหลังจากจีนปิดประเทศการส่งออกจึงลดลง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าตั้งต้น ที่โรงงานจีนนำไปผลิตต่อ อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ไวรัสยุติ ปริมาณตู้จะกลับมาเป็นปกติ






กำลังโหลดความคิดเห็น